วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่


จุดตั้งต้นของแนวคิด NPM เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s แนวคิดในระยะเริ่มต้น มุ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ การปรับโครงสร้างให้เล็กลง และยอมรับการใช้กลไกตลาดและการแข่งขันตามแบบของเอกชนมาใช้ในภาครัฐ อันเป็นการนำความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีการพัฒนาและแบ่งสาขาตามความเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ มาบูรณาการเพื่อเชื่อมมิติทางนโยบายและมิติการจัดการให้สอดคล้องกัน (Peters & Pierre, 1998)
แนวคิดการจัดการภาครัฐเป็นผลรวมของปรัชญาสองกระแสหลัก ได้แก่ ปรัชญาในกลุ่ม NIE และปรัชญาของการจัดการ โดยนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งศึกษาการลงทุนและการใช้ทรัพยากรของภาครัฐและภาคเอกชน พบว่า ในภาคเอกชนมีการลงทุนทำให้เกิดการค้าขายและเปลี่ยนเป็นผลกำไร ส่วนภาครัฐการลงทุนได้มาจากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมและนำมาเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการสาธารณะ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน ขณะทีประสิทธิภาพของภาคเอกชน หมายถึง การได้รับผลกำไรสูงสุดประสิทธิภาพของภาครัฐก็หมายถึง การมีต้นทุนต่ำสุดซึ่งมิได้แตกต่างกัน นักวิชาการในกลุ่มนี้สนับสนุนให้รัฐเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมมาใช้การจูงใจด้วยกลไกตลาดดังเช่นภาคเอกชน ส่วนปรัชญาการจัดการสนับสนุนการใช้รูปแบบการจัดการของภาคเอกชนมาใช้ในภาครัฐ (Pollitt & Bouckaert, 2004)
อเมริกา เป็นแรงจูงใจให้เกิดกระแสการปฏิรูประบบราชการขึ้นทั่วโลก วิธีการที่ใช้โดยทั่วไปในการปฏิรูปและการปรับปรุงกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐคือ
(1) การเปลี่ยนแปลงให้บริการของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบการพาณิชย์
(2) การเปลี่ยนแปลงหน่วยงานภาครัฐไปเป็นองค์การมหาชน
(3) การปรับปรุงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้มีการกระจายอำนาจ และใช้รูปแบบของผู้ประกอบการ เช่น การจ่ายค่าตอบแทนตามบริการหรือตามผลงาน (Boston, Martin, Pallot, & Walsh, 1996)
บทความที่สำคัญซึ่งอธิบายลักษณะของแนวคิดการจัดการภาครัฐ ได้แก่บทความของ Hood (1991) เรื่อง A Public management for all seasons? บทความของOsborne and Gaebler (1992) เรื่อง Reinventing government: How the entrepreneurial spirit is transforming the public sector และบทความของ Organization for Economic Cooperation and Development [OECD] (1995) เรื่อง Governance in transition: Public management reforms in OECD countries
Hood (1991) นำเสนอหลักการจัดการ 7 ประการ คือ
(1) การจัดการโดยนักบริหารที่ใช้ความรู้ทางวิชาชีพ เพื่อใช้ทักษะและประสบการณ์ของตนอย่างอิสระ
(2) การกำหนดมาตรฐานและเครื่องชี้วัดผลงานที่ชัดเจน
(3) การเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ
(4) การปรับรูปแบบการบริหารเป็นแบบกระจายอำนาจ
(5) การปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้มีการแข่งขันมากขึ้น
(6) การใช้วิธีการบริหารของภาคเอกชน และ
(7) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ
ในสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Clinton และรองประธานาธิบดี Gore (1993) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้ง การล้มละลายของรัฐ จึงได้มีการปฏิรูปโดยมีกระบวนการยกระดับการบริหารภาครัฐ ซึ่งเรียกว่า Reinventing government โดยต้องการให้รัฐมีบทบาทเสมือน ผู้ประกอบการ (entrepreneurial government) โดยปรับปรุงการจัดการให้ยืดหยุ่นและเน้นที่เป้าหมายของรัฐมากขึ้น หลักการสำคัญ 10 ประการ ของรัฐแบบผู้ประกอบการ มีดังนี้ (Osborne & Gaebler, 1992, pp. 22-25)
1. รัฐควรชี้นำทิศทาง (steering) แทนที่จะดำเนินการเอง (rowing)
2. รัฐควรใช้การสนับสนุน และส่งเสริม (empowering communities) แทนที่การควบคุมและออกคำสั่ง (command-and-control)
3. รัฐควรใช้หลักการแข่งขันในการให้บริการสาธารณะ (injecting competition into service delivery)
4. รัฐควรเปลี่ยนการยึดกฎระเบียบมาเป็นการมุ่งเน้นที่งาน (mission driven government; transforming rule driven organizations)
5. รัฐควรมุ่งเน้นที่ผลของงาน (results-oriented) มากกว่ากระบวนการทำงาน (process-oriented)
6. รัฐควรตอบสนองต่อประชาชนเสมือนลูกค้า (customer driven government:meeting the need of customer, not the bureaucracy)
7. รัฐควรหารายได้เองมากกว่าใช้เงิน (focus on earning rather than spending) อันเป็นการใช้ความคิดแบบพ่อค้ามาบริหารราชการ
8. รัฐควรใช้วิธีการวางแผนและมองปัญหาทุกอย่างล่วงหน้า (anticipatory,preventive) ผู้บริหารภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อการป้องกันซึ่งดีกว่าการแก้ไข
9. รัฐควรกระจายอำนาจการจัดการจากลำดับขั้นการบังคับบัญชาไปเป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วม และทำงานเป็นทีม
10. รัฐควรเน้นบทบาทแบบรัฐตลาด (market oriented government) คือ จัดการให้บรรลุตามเป้าหมายด้วยกลไกตลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น