วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อาหารมื้อเช้า....

6 อันดับอาหารเช้าจานโปรด เมนูไหนเปี่ยมประโยชน์มากที่สุด


เป็นที่ทราบกันดีว่า มื้อเช้า ถือเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุด จะสดใสร่าเริง สมองแล่นทั้งวันหรือไม่ ก็อยู่ที่มื้อเช้านี่แหละ เมื่ออาหารเช้าสำคัญขนาดนี้ มาสำรวจกันหน่อยดีมั้ย ว่าอาหารจานโปรดที่คุณๆ ทานกันทุกเช้านั้น เมนูใดเปี่ยมประโยชน์ เมนูไหนสมควรเลี่ยง !
...

เรารวบรวมอาหารเช้าที่คุณคุ้นเคย 6 เมนู ไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (Ani-Aging) นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ฟันธงว่าแท้จริงแล้ว เมนูอาหารเช้ายอดฮิตอย่าง น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋, โจ๊กหมู, ข้าวเหนียว หมูปิ้ง, ต้มเลือดหมู, ขนมปัง ไข่ดาว และขนมครกนั้น แท้จริงแล้วมีประโยชน์เพียงใด เหมาะจะนำมาเป็นมื้อสำคัญยามรุ่งอรุณแค่ไหน

“การทานอาหารเช้าที่ดี คือ ให้กินอย่างราชา แต่จะต้องมีหลักนิดนึงคือ ถ้าเรากินอย่างราชาแต่หนักแป้งก็ไม่ดี เพราะมันจะทำให้เราหิวเร็ว ดังนั้นกฎข้อแรกของการกินอาหารเช้าคือ พยายามทานแป้งกับน้ำตาลให้น้อยที่สุด เพราะแป้งและน้ำตาลดูดซึมได้เร็ว เมื่อไหร่ที่ดูดซึมเร็ว อินซูลิน (Insulin) จะมาควบคุมไม่ให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูง เมื่ออินซูลินมากดนานเข้า ก็จะทำให้น้ำตาลเราต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำ เราก็จะหิวเร็ว ดังนั้นย้ำว่าอาหารเช้าไม่ควรขาดเลย แต่ควรจะงดแป้งและน้ำตาล

กฎข้อที่สองคือ อาหารเช้ามื้อนั้นๆ ไม่ควรจะรสจัดเกินไป เพราะในตอนเช้ายังไม่มีน้ำย่อยเยอะ และกระเพาะอาหารยังไม่ขยับเต็มที่ หากเราทานอาหารที่มีความมัน หรือเผ็ดเกินไป มันจะทำให้เกิดข้อเสียมากกว่า ดังนั้นในมื้อเช้าจึงไม่ควรจะทานอาหารที่มันและเผ็ดเกินไป” คุณหมอกฤษดา อธิบายถึงหลักการรับประทานอาหารมื้อเช้าที่ดีต่อสุขภาพ

หลังบอกถึงหลักการทานอาหารเช้าที่เหมาะสมแล้ว เรามาดูกันเลยค่ะว่า อาหารเช้าที่หลายท่านนิยมชมชอบ ด้วยเพราะคุ้นเคยดี แถมซื้อหาได้ง่าย (เพราะขายอยู่พรึ่บทุกปากซอย) แท้จริงแล้ว แต่ละเมนูมีประโยชน์แค่ไหน เหมาะจะเป็นมื้อเช้าที่ดีของคุณๆ หรือไม่ และคุณหมอท่านฟันธงมาว่าเมนูไหนเยี่ยมสุด

อันดับ 1 ต้มเลือดหมู

เมนูอันดับหนึ่ง คุณหมอผู้ผู้เชี่ยวชาญด้าน Anti-Aging ยกนิ้วให้เป็นเมนูเพื่อสุขภาพสุดๆ ทว่าจะให้ทานแล้วดีต่อร่างกายอย่างแท้จริง...ก็ต้องมีเทคนิคในการทาน

“ต้มเลือดหมูเป็นอาหารที่เรียกได้ว่าเป็น perfect combination หรือเป็นคู่ที่สมกันมากเลย เพราะในเลือดหมูมีธาตุเหล็ก และในผัก เช่น ใบตำลึง จะมีวิตามินซีเยอะ ธาตุเหล็กต้องมีวิตามินซี มันถึงจะดูดซึมได้ดี เช่นเดียวกับที่วิตามินซี ก็ต้องมีธาตุเหล็กมันถึงจะดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดี ฉะนั้นมันเป็นคู่ที่เพอร์เฟคเลย

แต่สิ่งที่ควรระวังคือ หากใครเป็นเก๊าท์ ต้องระวังหน่อย เพราะน้ำซุปต้มเลือดหมูทำจากน้ำต้มกระดูก ซึ่งมีกรดยูริค (Uric Acid) เยอะ ส่วนเครื่องในก็มีกรดยูริคสูงเหมือนกัน อันนี้อาจต้องระวังสักนิด นอกจากนี้คนอีกกลุ่มที่ต้องระวัง คือ คนที่เป็นธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เพราะคนที่เป็นธาลัสซีเมีย ไม่ควรกินธาตุเหล็กเยอะ แต่ต้มเลือดหมู มีทั้งเลือดหมู, เครื่องใน, ใบตำลึง เหล่านี้มีธาตุเหล็กทั้งนั้นเลย แต่ถ้าในคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นธาลัสซีเมีย ต้มเลือดหมูคือต้มที่ดี เป็นต้มที่เปี่ยม คอลลาเจน (Collagen) เพราะในเลือดหมูมีคอลลาเจน ในน้ำต้มกระดูกก็มีคอลลาเจน ทั้งยังมีผักเขียวที่มีวิตามินซี ก็ยิ่งทำให้คอลลาเจน ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีอีกด้วย

ดังนั้นต้มเลือดหมู ถือว่าเป็นซุปสวยได้เลย เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีชนิดหนึ่ง ดีกว่าปาท่องโก๋จิ้มนมนะ แต่มันจะกลายเป็นอาหารที่ไม่สุขภาพไปได้ เช่น หากเราใส่กระเทียมเจียวเยอะๆ ใส่หมูติดมัน หรือบางเจ้าใส่หมูสามชั้น หรือหมูกรอบเข้าไป แล้วปรุงให้รสจัดเกินไป หรือหวานไป”

อันดับ 2 ขนมปัง + ไข่ดาว

สำหรับอับดับสองเป็นเมนูอาหารเช้าทำง่าย...ทานง่าย อย่าง ขนมปัง-ไข่ดาว ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ยกให้เป็นอาหารเช้าเปี่ยมประโยชน์ที่เหมาะนักสำหรับหนุ่มสาววัยทำงาน และน้องๆ วัยเรียน จะต้องเป็นขนมปังโฮลวีท (whole wheat) และไข่ดาวน้ำ หรือไข่ต้ม (ที่ไร้น้ำมัน) นะคะ

“ในช่วงเช้า สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ (office) ที่ต้องไปทำงาน หรือเด็กในวัยเรียน การเพิ่มอาหารจำพวกโปรตีนเข้าไปก็ถือว่าเหมาะมาก เพราะโปรตีนจะกระตุ้นให้รู้สึกกระฉับกระเฉง ดังนั้นการทานอาหารที่มีโปรตีนอย่าง ไข่ ก็เป็นอาหารเช้าที่ดีมาก ราคาไม่แพง และมีโปรตีนที่ช่วยกระตุ้นสมองด้วย สำหรับไข่ทอดอาจจะมีปัญหาเรื่องของน้ำมัน ดังนั้นหากทานเป็นไข่ต้มได้ก็ยิ่งดี โดยอาจทานไข่ต้ม, ไข่ลวก, ไข่ดาวน้ำ โรยซีอิ้วขาว โรยพริกไทยก็ยิ่งดี เพราะพริกไทยช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ และลดไขมันได้ด้วย

หรือไข่ต้มอย่างเดียวอาจไม่อิ่ม การทานคู่กับขนมปังโฮลวีท ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะขนมปังโฮลวีท เป็นแป้งที่มีคุณภาพ คือ แป้งมีกาก มีธัญพืชทั้งหลาย โดยอาจนำขนมปังขนมปังโฮลวีท มาทำเป็น   แซนวิช (sandwich) ไข่ เพิ่มผักอีกสักหน่อย ก็ยิ่งทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น ทานกับนมอีกนิดเพอร์เฟค (perfect) เลย เพราะนมก็มีโปรตีน และกรดอะมิโน (Amino acid) ที่ช่วยกระตุ้นสมอง ถ้าผู้ใหญ่บางท่านแพ้นมวัว ทานแล้วท้องเสีย ก็สามารถทานโยเกิร์ต (Yoghurt) แทนได้ เพราะโยเกิร์ตคือ นมที่ย่อยแล้ว และไม่ทำให้ห้องเสีย ถือว่าเป็นอาหารชูกำลัง แทนที่เราจะกระตุ้นด้วยกาแฟ เรากระตุ้นด้วยอาหารชูกำลังอย่าง นม หรือโยเกิร์ตดีกว่า”

อันดับ 3 ขนมครก + กาแฟ

“ขนมครกนั้น จะมีปัญหาตรงที่มันมีแป้ง ถ้าเจ้าไหนใส่แป้งเยอะ ก็ไม่ต่างจากปาท่องโก๋เท่าไหร่ ดีกว่านิดหน่อยตรงที่มันใช้การปิ้ง เป็นการทำให้สุกด้วยความร้อนแทนการทอด แต่ข้อดีของมันคือ มีกะทิ ซึ่งกะทิเป็นไขมันดี เป็นกลุ่มของไขมัน มีเดียม-เชน ไตรกลีเซอไรด์ (Medium-chain triglycerides) เป็นไขมันที่ร่างกายขับออกได้ดี ก็เลยไม่ค่อยถูกเก็บสะสมในร่างกาย ซึ่งเรามักเข้าใจว่ากะทิก่อให้เกิดอันตราย แต่จริงๆ แล้ว กะทิถือเป็นของดีเลย อันนี้เป็นอีกหน้าฉากหนึ่งและในมะพร้าวก็ยังมีวิตามินอี ที่ช่วยบำรุงผิวด้วย และส่วนใหญ่แล้ว หน้าของขนมครก ก็จะเป็นหน้าเพื่อสุขภาพ คือโรยด้วยเผือก, ต้นหอม, ข้าวโพด, ก็จะมีวิตามินเอ ซึ่งวิตามินเอ ต้องอาศัยไขมันจากกะทิ ในการดูดซึมดังนั้นก็เข้ากันพอดี

ยิ่งทานขนมครกกับชา หรือกาแฟ ก็ถือว่าเหมาะสม เพราะในกาแฟจะมีคาเฟอีน (Caffeine) เยอะ ซึ่งถ้าเราได้ อาหารอย่างขนมครกเข้าไปรองท้องก็จะดี เพราะร่างกายจะได้ไม่ต้องดูดซึมคาเฟอีนเข้าไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งมันอาจจะมากเกินไปสำหรับร่างกาย ดังนั้นขนมครกก็ไม่ถึงกับเป็นอาหารเช้าที่เลวร้ายนัก แต่ก็ต้องระวังไว้นิด เพราะบางเจ้าอาจมีการใส่น้ำตาลเยอะ รสหวานเกินไป อันนี้ก็ต้องระวังไว้หน่อย ไม่อย่างนั้นก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไปเหมือนกัน”

อันดับ 4 โจ๊กหมู

“ตัวโจ๊กหมู จะมีปลายข้าว รำข้าว ถ้าเยอะไปก็ทำให้หิวเร็วได้เช่นกัน เพราะมันคือ แป้งที่ทำให้เราหิวเร็วได้ ส่วนสิ่งที่ควรจะทานคู่กับโจ๊กหมูคือ ขิง และต้นหอม เพราะขิงจะช่วยระบบเผาผลาญในร่างกาย และทำให้ไม่รู้สึกเลี่ยน ต้นหอม ช่วยในเรื่องลดไขมัน และควบคุมน้ำตาล

ส่วนประโยชน์นั้น หากเราเลือกโจ๊กที่ทำจากปลายข้าวแท้ๆ แล้วผสมจมูกข้าวลงไปด้วย มันจะทำให้เราได้วิตามินอี (Vitamin E) และ แกมมา ออริซานอล (Gamma-Orizanal) ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่มีในข้าว หรือรำข้าว และถ้ายิ่งได้โจ๊กที่ทำจากข้าวกล้องงอกจะยิ่งดีมาก เพราะมันจะมี กาบา (Gaba) ที่ทำให้สมองร่าเริง ดังนั้นถ้าเลือกได้ก็ควรเลือกซื้อโจ๊กที่ใช้ข้าวที่มีประโยชน์เหล่านี้ แต่ถ้าหาซื้อลำบาก หาได้เป็นโจ๊กข้าวขาวธรรมดา ก็ไม่ต้องซีเรียส ลองพยายามลดความเสี่ยงจากการได้แป้ง กับน้ำตาลเยอะ โดยเน้นทานผักเยอะๆ และไม่ต้องปรุงรสให้หวานขึ้น หรือเค็มขึ้น

ข้อควรระวังคือ อย่ากินโจ๊ก คู่กับปาท่องโก๋ เพราะนั่นคือการนำแป้งมาจิ้มแป้ง และหากโจ๊กนั้นใส่หมูสับแล้ว ก็ไม่ต้องใส่เครื่องในหมูเข้าไปอีก เพราะเครื่องในเป็นแหล่งของกรดยูริค ที่ทำให้เกิดเก๊าท์ และในตัวโจ๊กก็ทำจากน้ำต้มกระดูก ซึ่งมีกรดยูริคมากอยู่แล้ว หากเราใส่เครื่องในเข้าไปอีกมันก็จะได้กรดยูริคมากเกินไป แถมยังได้คอเลสเตอรอล (Cholesterol) มากเกินไปด้วย เพราะหมูสับก็มีคอเลสเตอรอลอยู่แล้ว หากใส่เครื่องในอีกก็อาจจะทำให้เราได้คอเลสเตอรอลในมื้อนั้นมากเกินไป ”

อันดับ 5 ข้าวเหนียว+ หมูปิ้ง

เมนูอับดับห้านี้ คุณหมอเตือนมานิดว่า แม้จะอร่อย ทานง่าย แถมพกพาสะดวก ทว่าก็ต้องระมัดระวังเลือกร้านที่ไว้ใจได้ และเลี่ยงทานส่วนที่ “มัน”

“ในเรื่องของพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหาร เราอาจได้รับแคลอรี่ (Calorie) เยอะอยู่ แต่ถ้าเทียบกับโจ๊กแล้ว ข้าวเหนียวหมูปิ้งก็เป็นตัวที่สลับกันทานกับโจ๊กได้ เพราะอย่างน้อยในข้าวเหนียว ก็จะมีกลูเตน (Gluten) หรือไฟเบอร์เยอะกว่าข้าวขัด จะดีขึ้นมาระดับหนึ่ง และถ้ายิ่งได้ทานหมูปิ้งกับข้าวเหนียวดำ มันก็จะมี โอพีซี (OPC) สารสีม่วงซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อยู่ในข้าวเหนียวดำด้วย

ส่วนหมูปิ้งมีเทคนิคการทานคือ ให้เลือกหมูปิ้งในส่วนที่มีมันค่อนข้างน้อย เพราะเมื่อไหร่ไขมัน ไปสัมผัสกับความร้อน มันจะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดสารก่อมะเร็งขึ้น ดังนั้นให้เลือกมันน้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นมันที่แทรกอยู่ในเนื้อหมู หรือมันที่ติดอยู่โคนไม้เหล่านี้ก็ต้องเลี่ยง นอกจากนี้เรื่องถ่านที่ปิ้งหมู ก็ต้องระวังเรื่องของสารปนเปื้อนที่มาจากถ่านที่ไม่ได้คุณภาพด้วย เพราะพวกนี้อาจจะมียาฆ่าแมลงที่ติดมากับไม้ที่นำมาทำเป็นถ่าน หรือหากเขาใช้ไม้เฟอร์นิเจอร์ (Furniture) มาทำเป็นถ่านก็ยิ่งต้องระวัง เพราะไม้พวกนี้เขามีการพ่นปลวก พ่นสารเคมีเอาไว้ อาจจะทำให้เราได้รับสารเคมีได้”

อันดับ 6 น้ำเต้าหู้ + ปาท่องโก๋

สำหรับเมนูสุดท้ายอย่าง น้ำเต้าหู้ และปาท่องโก๋นี้ คุณหมอหนุ่มระบุว่า ปาท่องโก๋นั้น ถือเป็นอาหารที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้คุณอ้วนได้ง่าย เพราะทานแล้วหิวเร็ว ส่วนน้ำเต้าหู้นั้น ถือเป็น “อาหารล้างบาป” ให้กับปาท่องโก๋ที่คุณทานเข้าไป

“ปาท่องโก๋เนี่ยะ ตัวทำให้อ้วนเลย ถ้าคนเราทานปาท่องโก๋ วันละ 1 คู่ ทุกวัน ภายในเวลา 1 ปี น้ำหนักจะขึ้นเป็นกิโลกรัมเลย เพราะปาท่องโก๋เป็นอาหารที่มีแป้ง แต่น้ำเต้าหู้ เป็นตัวล้างบาปที่ดี นี่คือภูมิปัญญาของคนไทย เพราะน้ำเต้าหู้ มันมีสารอาหารที่ช่วยเรื่องสุขภาพ ทั้งโปรตีน (Protein), แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant), เปปไทด์ (Peptide) หรือถ้ายิ่งเป็นน้ำเต้าหู้ใส่ธัญพืช ก็จะมีไฟเบอร์ (Fiber) ที่ช่วยไล่ไขมันในปาท่องโก๋ได้

อีกสิ่งที่ต้องระวังจากตัวปาท่องโก๋คือ มันอาจจะมีสารตัวหนึ่งที่ก่อมะเร็งได้ นั่นคือกลุ่มของอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ตัวนี้จะเกิดในพวกของทอด อาหารที่ต้องทอดด้วยน้ำมันชุ่มๆ และอาหารทอดซ้ำ ดังนั้นถ้าเราจะทานปาท่องโก๋ ก็ต้องพยายามเว้นวันบ้าง อย่าทานทุกวัน หรือถ้าจะทานปาท่องโก๋เมื่อไหร่ ควรจะทานน้ำเต้าหู้ที่มีธัญพืชเยอะๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำเต้าหู้ใส่ถั่วแดง, เม็ดแมงลัก, ข้าวบาร์เล่ย์ (Barley) ใส่ธัญพืชเหล่านี้เข้าไปสักหน่อย มันจะได้ช่วยไม่ให้แป้งในปาท่องโก๋ ดูดซึมเร็วเกินไป จนทำให้หิวง่าย

ส่วนผู้ที่นิยมทานปาท่องโก๋จิ้มนมข้น อันนั้นเรียกว่า คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) จิ้มคาร์โบไฮเดรต หรืออ้วนจิ้มอ้วนเลย เพราะนมข้นหวานทำจากหางนม แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล, น้ำเชื่อม เพราะฉะนั้นถ้าทานปาท่องโก๋ กับนมข้น ข้อเสียคือ ทำให้เราติดหวาน หากมื้อเช้ามื้อนั้นเราทานปาท่องโก๋ จิ้มนมข้น มันอาจจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข เพราะได้น้ำตาล แต่มันจะทำให้หิวเร็ว” คุณหมอกฤษดา อธิบายปิดท้ายเมนูสุดท้ายแบบครบถ้วนกระบวนความ

เรื่องราวของอาหารการกินกับสุขภาพยังไม่หมด สัปดาห์หน้ามาตามกันต่อ กับเมนูอาหารยอดฮิต ที่คุณๆ ชื่นชอบอย่าง ส้มตำ, ก๋วยเตี๋ยว, กระเพราะไก่ไข่ดาว และหมูกระทะ จะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ   แค่ไหน มีวิธีกินอย่างไรให้ได้คุณค่าสูงสุด ต้องติดตามค่ะ



ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระครูภาวนาภิมณฑ์ วัดโพธิ์ทรายทอง

Image
พระครูภาวนาภิมณฑ์
วัดโพธิ์ทรายทอง  ต.ละหานทราย  อ.ละหานทราย  จ.บุรีรัมย์

ชาติกำเนิด พระครูภาวนาภิมณฑ์ หรือหลวงปู่สุข ธมฺมโชโต เดิมชื่อ สุข นามสกุล ยอดเยี่ยมแกร เป็นบุตรของ นายโฮ และนางแฮม ยอดเยี่ยมแกร อาชีพทำนา ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๒๑ แรม ๕ ค่ำ ปีเถาะ เกิดที่บ้านละหานทราย หมู่ที่ ๒ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตจำนวน ๖ คน หลวงปู่สุขเป็นคน ที่ ๔

การศึกษาในสมัยนั้นการเรียนหนังสือต้องอาศัยวัด อำเภอละหานทราย ยังเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ในป่าดงพงพี ถนนหนทางก็ไม่สะดวก เด็กชายสุข เรียนหนังสือขอมที่วัดโพธิ์ทรายทอง จนสามารถ อ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์ทรายทอง บรรพชาอยู่ได้ ๕ พรรษา

การอุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ทรายทอง ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ (เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ สมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์) ในวันพุธที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน มีเจ้าอธิการนิ่ม วัดสายน้ำไหล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการกลิ่น เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอธิการเกิดเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมโชโต” แปลว่า แสงสว่างแห่งธรรม เมื่อหลวงปู่สุขท่านอุปสมบทท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ทรายทอง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนปริยัติธรรมแต่ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นภาษาขอม จนมีความรู้แตกฉานสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี
ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านได้เรียนกับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้นำกองทัพธรรมฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานแห่งภาคอีสาน ซึ่งกล่าวกันว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสำเร็จอรหันต์ เป็นอาจารย์ใหญ่ของพระป่า สายธรรมยุติ  และด้านพระเวทย์วิทยาคมต่าง ๆ ท่านได้ศึกษากับ พระอาจารย์อินทร์ ภิกษุชาวเขมรซึ่งได้ธุดงค์มาจากเมืองศรีโสภณ และได้มาสร้างวัดหนองติม อยู่ในเขต อ.ตาพระยา ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับ จังหวัดปราจีนบุรี
หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต เป็นพระอริยสงฆ์ สุปฏิปันโน มีวัตรปฏิบัติที่งดงามสมเป็น “พระแท้” อย่างแท้จริงสมควรค่าแก่การกราบไหว้บูชา ท่านเคร่งในพระธรรมวินัยถือการปฏิบัติ เจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน เจริญรอยตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำหนดองค์ภาวนาทุกลมหายใจเข้า ออก ท่านสำเร็จญาณสมาบัติขั้นสูงเรียกว่า “อภิญญา”
อภิญญา คือ ความรู้ชั้นสูงในพุทธศาสนา ซึ่งได้จากการปฏิบัติทางด้านวิปัสสนาธุระ มีอยู่ ๖ ประการด้วยกันคือ
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้
๒. ทิพยโสต หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนด รู้ใจผู้อื่น
๔. ปุพเพนิวาสานุสติ ระลึกชาติได้
๕. ทิพจักขุ ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น
ด้วยวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ความสำเร็จทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านเล่ากันปากต่อปาก ถึงกับมีผู้เลื่อมใสหลวงปู่ ในหลายจังหวัดเดินทางมากราบมนัสการและสนทนาธรรมอยู่อย่างเนืองนิตย์ถนนหนทางในสมัยนั้น การคมนาคมยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ บางคน บางคณะอาจต้องค้างแรมกันหลายคืนทั้งยังบุกป่าฝ่าดงเผชิญกับสัตว์ป่าดุร้ายมากมาย แต่กลุ่มผู้ศรัทธาก็ไม่ยอมย่อท้อ ต่อความยากลำบาก เดินทางมาจนถึงตัวท่านให้ท่านเป่ากระหม่อมบ้าง รดน้ำมนต์บาง เพื่อความเป็นสิริมงคล

Image 

ตำแหน่ง และสมณศักดิ์ (ประวัติการปกครอง)พ.ศ. ๒๕๘๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทรายทอง (เป็นเจ้าอาวาส ๓๓ ปี)
พ.ศ. ๒๕๙๘ เป็นเจ้าคณะตำบลละหานทราย
พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนาภิมณฑ์
พ.ศ. ๒๕๑๕ มรณภาพ (๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๕) รวมสิริอายุได้ ๙๕ ปี
กิจวัตรประจำที่หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต ถือปฏิบัติเป็นนิจ (ปฏิปทาพิเศษ)
ท่านมีความอดทนเป็นเลิศ แม้ยามเจ็บป่วย (อาพาธ) ไม่เคยปริปาก หรือบ่นให้ใครรู้ท่านล่วงรู้กาลมรณภาพล่วงหน้า ในวันสารท แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ อายุล่วงได้ ๙๕ ปี หลวงปู่ได้หกล้ม ทำให้กระดูกต้นขาของท่านหลุดจากสะโพก ท่านทราบว่ากาลมรณสังขารใกล้สิ้นสุดแล้ว ท่านก็ไม่ปริปากบอกใครให้ทราบถึงอาการ เจ็บป่วยของท่านนั้นรักษาไม่หายหรอก มันเป็นเรื่องของสังขารเพราะท่านจะมรณภาพแล้ว ตลอดเวลาที่ท่านเจ็บป่วย ท่านไม่เคยโอดครวญหรือแสดงกิริยาอาการเจ็บปวดให้ใครเห็น ท่านใช้ขันติ และพิจารณาสังขารของท่านในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
การถือธุดงค์วัตร เมื่อยามที่ท่านยังแข็งแรงอายุยังไม่สูงวัย ท่านถือธุดงค์วัตรเป็นนิจโดยท่านจะเดินธุดงค์หลังจากออกพรรษาแล้ว ไปประเทศเขมรผ่านทางวัดหนองติม อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อบำเพ็ญจิตและศึกษาวิชาเพิ่มเติม การเดินทางของท่านเป็นที่น่าอัศจรรย์ เพราะท่านเดินทางได้เร็วมาก มีผู้กล่าวว่าท่านสำเร็จวิชาย่นระยะทางไป – กลับ ได้ภายในวันเดียว
การสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในด้านสืบสานพระพุทธศาสนา ท่านจะเคร่งในวัตรปฏิบัติจะนำพุทธศาสนิกชนทำบุญและถืออุโบสถศีลทุกวันพระ อบรมธรรม และฝึกฝนจิตด้านสมถกัมมัฏฐานให้กับพุทธบริษัท หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต ท่านนิยมสอนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานให้กับบุคคลโดยทั่วไป ผู้ถือศีล สามเณร และพระภิกษุ โดยท่านจะให้ผู้ขอขึ้นกัมฏฐานกับท่านใช้องค์ภาวนาและใช้คาถา “อะ อา แอ๊ก ไอ นะ นู เน นิ นัง” ซึ่งเป็นภาษาเขมร
ด้วยเหตุและผลดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดเลยที่หลวงพ่อสุข ธมฺมโชโต จักทรงคุณวิเศษและแสดงให้แจ้งประจักษ์แก่สาธุชนท่านยังสำเร็จ วิชาสรตโสฬร คือ สามารถกำหนดรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ความศักดิ์สิทธิ์ ความแม่นยำในการทำนายทายทักเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าได้จริงเหมือนตาเห็น สามารถที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ตลอดจนคุณวิเศษต่าง ๆ ได้นานัปการ เช่น การล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า การรู้วาระจิตบุคคลอื่น เป็นต้น วิชาดังกล่าว เป็นวิชาที่มีจริง จะบังเกิดเฉพาะท่านที่ปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระ จนกระทั่งได้ญาณสมาบัติขั้นสูงเท่านั้น
อภินิหาร พุทธาคม และความศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าสืบทอดกันมา

ชุบชีวิตนก
ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้รับกิจนิมนต์ไปยังต่างอำเภอต้องเดินตามทางเกวียน ขณะเดินทางผ่านป่าละเมาะก็ได้พบนกประปูดตัวหนึ่ง นอนดิ้นทุรนทุรายอยู่ข้างทางหลวงปู่จึงให้ตาเมอะไปอุ้มนกกระปูด  และถามว่านกมันเป็นอะไร ตาเมอะก้มลงอุ้มนกมาตรวจสอบพบว่ามันถูกยิงใกล้จะสิ้นใจ หลวงปู่จับนกกระปูดมาไว้ในอุ้งมือ แล้วบริกรรมคาถาพึมพำ เมื่อภาวนาคาถาจบท่านเอามือจับ ขานกแล้วดึงให้ตึงแล้วท่านก็โยนนกขึ้นฟ้า นกตัวนี้ก็สามารถบินได้ และบินจากไปอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาคุณตาเมอะ นับเป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่น่าพิศวง งง งวยไม่น่าจะเป็นไปได้ และคุณตาเมอะก็จดจำเรื่องดังกล่าวไว้ติดตาตรึงใจเล่าขานกันต่อมา

ขโมยของเอาไปไม่ได้
หญิงสาวมาจากอำเภอตาพระยามาช่วยงานบุญที่วัดโพธิ์ทรายทอง ได้เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าพร้อมของมีค่าไว้บนกุฎิ ตกเย็นพากันไปอาบน้ำที่บ่อใกล้วัดเมื่อเสร็จจากอาบน้ำมาที่กุฏิเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า ปรากฏว่ากระเป๋าและของมีค่าหายไปต่างร้องไห้ตกใจ ความทราบถึงหลวงปู่ ท่านเสียใจมากที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นภายในวัด ท่านนั่งนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วเดินไปเอามือทุบพื้นกระดานเบา ๆ ๓ ครั้ง บริเวณที่เคยวางกระเป๋าของกลุ่มสตรีชาวตาพระยาแล้วท่านก็พูดว่า “กระเป๋าไม่หาย เดี๋ยวก็ได้คืน” เช้าวันรุ่งขึ้นมีคนเห็น ชายคนหนึ่งนั่งกอดกระเป๋าอยู่ใต้กุฏิด้วยอาการเหม่อลอยขาดสติ เดินวกไปวนมาอยู่อย่างนั้น หาทางกลับบ้านไม่ถูก เหนื่อยอ่อนหมดแรก ชาวบ้านจึงช่วยกันจับตัวไว้ ได้ของกลางคืนเจ้าของ หลังจากวันนั้นมีผู้ถามชายคนนั้นว่าขโมยของเขาแล้วทำไม่ไม่หนีกลับบ้าน นายห่วงได้บอกว่าก็ได้เดินหนีกลับบ้านแต่เดินเท่าไหร่ก็ไม่ถึงบ้าน และหาทางกลับบ้านไม่เจอ นับเป็นเรื่องแปลก
วัตถุมงคล
Image 
พระเนื้อผง หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง พระผงของขวัญ ออกวัดธรรมธีราราม ปี 13 พระเหรียญ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง เหรียญรุ่นสามบล็อคกลาง หลังยันต์สาม ปี 12 พระเหรียญ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง เหรียญอัลปาก้าหลังยันต์ห้า ปี 08
พระเหรียญ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง เหรียญรุ่นเจ็ดสร้างแจกทหาร ปี 15 พระรูปหล่อ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง รูปหล่อ พระรูปหล่อ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง รูปหล่อออกวัดชิโนรส ปี12

ที่มา : http://p.moohin.com/

Image
จาก : วารสารทางหลวง ปีที่ 48 ฉบับที่ 2  มีนาคม - เมษายน 2554

หลวงพ่อจ้อย วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์

Image

หลวงพ่อจ้อย วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์

ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

รวบรวมและเรียบเรียง โดย อาทนีย์  ทองสถิตย์

    "สุราษฎร์ธานี" เป็นเมืองเก่าแก่ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย เมืองนี้ถือว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญทางศาสนา วัฒนธรรม และการทำมาค้าขาย โดยเฉพาะความเจริญทางด้านศาสนา มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีอริยสงฆ์ พระคณาจารย์ พระเกจิอาจารย์ ผู้เรืองอาคมขลังมากมาย สำหรับฉบับนี้ขอกล่าวถึง หลวงพ่อจ้อย วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ประวัติพระกิตติมงคลพิพัฒน์  (หลวงพ่อจ้อย ฐิตปุญโญ) 
      หลวงพ่อจ้อย ฐิตปุญโญ ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ และอดีตเจ้าคณะอำเภอดอนสัก วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านเจ้าคุณ พระกิตติมงคลพิพัฒน์ ท่านมีนามเดิมว่า จ้อย นามสกุล พันธุ์อุดม ต่อมาท่าน พระครูวอน (ไม่ทราบฉายา) ผู้เป็นอา ได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น ไกรวงศ์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2448 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ณ บ้านหัวรอ ตำบลม่วงงาม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตร นายนวล - นางห้อง พันธุ์อุดม มีอาชีพกสิกรรม ท่านเป็นบุตรคนเดียวของพ่อแม่
      ท่านได้รับการศึกษาที่ วัดมะขามคลาน ตำบลม่วงงาม อำเภอเมืองสงขลา มีท่านพระครูวอน พุทธสโร เป็นผู้สอน ท่านมีความสนใจใฝ่รู้เป็นอย่างมาก และท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ต่าง ๆ เช่น วิชาภาษาไทย ภาษาบาลี อักษรขอม เวทมนตร์ คาถาอาคม โหราศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณ

ผลงานการพัฒนาท้องถิ่นของท่าน 
ท่านเจ้าคุณ "พระกิตติมงคลพิพัฒน์" ท่านได้ดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นมีเป็นจำนวนมาก จนสามารถกล่าวได้อย่างสนิทใจ และภาคภูมิใจว่า ดอนสักทั้งดอนสัก เจริญรุ่งเรืองเป็นดอนสักได้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่หลวงพ่อจ้อยได้สร้างแทบทั้งสิ้น เพื่อให้เห็นประจักษ์แจ้ง จึงขอจำแนกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
1. ถนน ได้ดำเนินการตัดถนนสายต่าง ๆ ในอำเภอดอนสักหลายสาย โดยท่านเป็นผู้อำนวยการในการตัดถนน และประสานงานกับเจ้าของที่ดิน โดยไม่ต้องมีการเวนคืน เช่น ถนนสายดอนสัก - ขนอม ถนนสายดอนสัก - บ้านใน ถนนสายสวนมะพร้าว - ท้องอ่าว ฯลฯ
2. การไฟฟ้า ท่านเป็นผู้ริเริ่มนำเครื่องปั่นไฟมาใช้ในบ้านดอนสัก และได้ประสานงานกับหน่วยงานและส่วนราชการต่าง ๆ จนในที่สุดมีไฟฟ้าใช้ทั่วทั้งสุขาภิบาลอำเภอดอนสัก
3. การประปา ท่านได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยเจาะบาดาล กระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ดำเนินการเรื่องน้ำหนักให้กับชาวดอนสัก จนทำให้ชาวดอนสักมีน้ำประปาใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
4. สิ่งก่อสร้างภายในวัด ได้แก่ สร้างกุฏิ จำนวน 9 หลัง สร้างศาลาการเปรียญ จำนวน 1 หลัง สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน 1 หลัง สร้างหอฉัน จำนวน 2 หลัง สร้างอุโบสถ จำนวน 1 หลัง สร้างเมรุ จำนวน 1 หลัง สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ สร้างอนุสาวรีย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต 

วัตถุมงคล

      หลวงพ่อจ้อย วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ สุราษฏร์ธานีเป็นหนึ่งในเกจิสำคัญประจำจังหวัดและเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งด้วย หลังจากท่านได้บวชและมาประจำอยู่ที่วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ท่านได้พัฒนาสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า และอื่นๆให้กับอำเภอดอนสักไว้มากมาย ทางด้านวิทยาคมหลวงพ่อจ้อยท่านได้ศึกษาเรียนรู้ทั้งทางด้านคาถาอาคม โหราศาสตร์ การรักษาแผนโบราณ ฯลฯ ตั้งแต่ท่านยังเป็นฆารวาส เป็นผู้มีความรู้มาตั้งแต่ก่อนบวชและมาศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังอีก หลวงพ่อจ้อยได้สร้างวัตถุมงคลไว้พอสมควรเอาไว้แจกลูกศิษย์ลูกหา
Image 
   
      เหรียญนี้สร้างไว้เหมือนปี พ.ศ.2506 แต่เป็นเหรียญหล่อโบราณ รูปแบบเหมือนกับเหรียญปั๊มปี06 องค์นี้เป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ บางเฉียบ มีโลหะผสมอยู่มากมาย ห่วงด้านบนหักมาแต่เดิมเพราะความบางของเหรียญ ด้านหน้าตามรูปทางซ้ายมือด้านล่าง จะเห็นเกร็ดทองคำลอยผิวได้ชัดเจน พื้นผิวพระจะมีพรายเงินขึ้น เข้าใจว่าเป็นดีบุกผสมลงมาด้วย ในสมัยก่อนยังพอเห็นเหรียญปั๊มปี06บ้าง แต่เหรียญหล่อแบบองค์นี้ยังไม่เคยได้เห็นเหรียญที่สองเลยครับ ของแท้ ของสวย และหายากมาก

Image

มรณะภาพ

     ท่านเจ้าคุณ " พระกิตติมงคลพิพัฒน์" ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ซึ่งเป็นธรรมชาติของสังขาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 อายุ 89 ปี พรรษา 46 ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ทุกระดับชั้น ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้จัดบำพ็ญบุญกุศลถวายท่านอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญูกตเวที ความสำนึกมั่นในอุปการคุณและคุณูปการที่ท่านมอบไว้ให้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลังอย่างมากมายเหลือที่จะพรรณนาให้หมดได้
     ต่อมา คณะศิษยานุศิษย์ทั่วทุกสาระทิศ ได้ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทุนกันจัดสร้าง "มณฑปหลวงพ่อจ้อย" ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อให้ทุกท่านได้สักการะบูชาที่ "วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์" ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในอันที่จะสรรค์สร้างคุณงามความดี เจริญรอยตามจริยาอันดีงามของท่าน ซึ่งปัจจุบันมีศิษญานุศิษย์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชนหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสาระทิศมาสักการะบูชาอยู่ทุกวัน จนแทบจะกล่าวได้ว่า "กลิ่นธูป แสงเทียน ไม่เคยขาดหายไปจากมณฑปหลวงพ่อจ้อย" อย่างแท้จริง
Image
     วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากชุมชนอำเภอดอนสัก 1 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช (ทางหลวงหมายเลข 401) พระครูสุวรรณประดิษฐ์การ หรือหลวงพ่อจ้อย เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งภาคใต้เป็นผู้บุกเบิกสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2536 แต่ยังคงอยู่ใน โลงแก้วภายในอุโบสถ บนยอดเขายังเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้มาจากวัดพระเกียรติ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รถสามารถขึ้นถึงบนยอดเขาได้
Image
Image
Image

อ้างอิงจาก : http://www.muangkondee.com/ 
Image
 จาก : วารสารทางหลวง ปีที่ 48 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม - มิถุนายน  2554

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555



"ดอกไม้ไหว้ครู"

พานดอกไม้ธูปเทียนเพียรประดิษฐ์

จากใจศิษย์มาไหว้ครูผู้งามสม

เปรียบพ่อแม่เพื่อนคิดศิษย์นิยม

น้อมจิตก้มวันทาบูชาครู


เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งการไหว้ครู ฉันยังจำได้ว่าในวัยเด็กของฉันเมื่อถึงวันไหว้ครูนักเรียนทุกคนจะตื่นเต้น เพราะเราจะได้หาดอกไม้ ทำกรวยดอกไม้เพื่อถือมาโรงเรียนในวันไหว้ครู กรวยดอกไม้ก็จะประกอบไปด้วย นำในตองมาทำเป็นกรวย แล้วใช้ไม้กรัดจากก้านมาพร้าวมากรัดให้ใบตองเป็นรูปกรวย ตอนนั้นจำได้ว่าทุกปียายจะนำข้าวเปลือกมาคั่วในหม้อ มีฝาปิด เพราะเวลาที่ข้าวเปลือกโดนความร้อนได้ที่ก็จะแตกและดิด ยายจะทิ้งไว้ให้เย็น แล้วบอกให้ฉันเลือกเปลือกข้าวทิ้ง 

การไหว้ครู ในอดีตนั้น มักจะใช้ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นองค์ประกอบในพานดอกไม้แต่ละอย่างล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น คนโบราณช่างชาญฉลาดที่จะสอนศิษย์ด้วยกลวิธีต่างๆ แม้กระทั่งการใช้ดอกไม้ต้นไม้ ฯลฯ เป็นสื่อการสอนทำให้ลูกศิษย์ให้ยุคก่อนเก่าได้เรียนรู้จากธรรมชาติ และรู้จักกตัญญูรู้คุณผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์อยู่ตลอดไป และการที่เราใช้ "หญ้าแพรกดอกมะเขือ" ในการไหว้ครูนั้น เพราะเป็นของหาง่าย งอกงามอยู่ทั่วไป



คำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ
ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตตรา นุสาสกา
ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอรปเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ข้าและประเทศไทย เทอญ
ปัญญา วุฑฒิ กเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหํ
คำปฏิญาณตน
เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เรานักเรียนจักต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน
มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เรานักเรียนจักต้องปฏิบัติตนไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น


ตอนเช้าตรู่วันพฤหัสซึ่งเป็นวันไหว้ครู ในวันนี้จะตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน (ด้วยความตื่นเต้น) ไปตัดใบตองมาทำกรวย นำข้าวตอกใส่ไว้ก้นกรวย นำดอกเข็ม ดอกมะเขือ ต้นหญ้าแพรก (ชอบเลือกต้นที่มีสีขาวปนเขียว ลายๆ สวยดี)ใส่ในกรวยตามด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม (ใช้หนังยางมัดธูปและเทียนไว้ด้วยกัน) ที่ในวันนี้ต้องไปโรงเรียนเช้ากว่าทุกวันเพราะต้องไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ และพานธูปเทียนที่โรงเรียน ดอกไม้ที่จัดส่วนมากก็นักเรียนนั่นหละนำมาจาดบ้าน ไม่ต้องซื้อหา ดอกรักสีม่วง สีขาว ดอกบานชื่น บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ดอกอะไรที่บ้านใครมีก็เอามารวมกันที่ห้อง แล้วมาช่วยกันจัด ตอนนั้นสนุกมาก ทุกห้องเรียนต้องมีพานดอกไม้ และพานธูปเทียนห้องละ 1คู่ โดยพานธูปเทียนจะให้นักเรียนชายถือ ส่วนพานดอกไม้ก็ให้นักเรียนหญิงถือ ส่วนนักเรียนทุกคนจะมีกรวยดอกไม้ที่เตรียมมาอยู่ในมือเพื่อเป็นเครื่องสักการะคุณครู

***************
การไหว้ครูในสถาบันการศึกษา จะทำในช่วงเปิดภาคการศึกษา การไหว้ครูเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ เป้นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพและระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครู อาจารย์ ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรือแงแก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต พิธีไหว้ครูจะจัดในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็นวันเทพส่งเสริมวิทยาการและความเฉลียวฉลาดซึ่งเป็นคุณสมบัติของครู จึงถือเอาวันนี้เป็นวันไหว้ครู เพื่อความเป้นสิริมงคล พิธีไหว้ครูจึงเป้นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่นักเรียนทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันมาแสดงความเคารพและระลึกถึงบุญคุณของครูอาจารย์อย่างแท้จริง

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM)


การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM)
รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (New Public Administration หรือ NPA) หมายถึง แนวคิดใหม่ทางการบริหารรัฐกิจที่เน้น ความเป็นธรรมในสังคม (Social Equity) การยอมรับค่านิยม (Value) และการเปลี่ยนแปลงแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าในรูปแบบมีความยืดหยุ่น (Change)
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) คือ แนวคิดใหม่ทางการบริหารรัฐกิจที่เน้นการนำเอาแนวคิดและแนวปฏิบัติของการจัดการในภาคธุรกิจมาปรับใช้ในองค์การภาครัฐ นอกจากนี้ยังพบว่าการจัดการภาครัฐแนวใหม่ถือเป็นแนวทางสำคัญต่อการปฏิรูประบบราชการไทยในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ระบบราชการไทยต้องปรับตัวอย่างมากในระยะเวลาอันรวดเร็วให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์และแรงกดดันจากกระแสการปฏิรูประบบราชการของต่างประเทศ
การพัฒนาแนวคิดของรัฐประศาสนศาสตร์นับจากปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามบริบททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เช่น เกิดทัศนะที่มองการบริหารรัฐกิจว่าควรยึดหลักต่างๆ อาทิ หลักการแยกการเมืองออกจากการบริหาร หลักการจัดองค์กรแบบราชการ หรือหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ มาจวบจนถึงหลักการบริหารการจัดการที่เป็นหลักสากล สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกท้าทายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นของการขาดเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานชิ้นสำคัญของ Herbert Simon ในงานที่มีชื่อว่า “Administrative Behavior” ในปี 1946 ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงวิชาการทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์อย่างมาก และทำให้นักวิชาการทางด้านนี้เสื่อมความศรัทธาลงในประเด็นเรื่องความถูกต้องและความเหมาะสมต่อแนวคิดทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์แบบดั้งเดิม
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) มีมุมมองที่ตั้งอยู่บนฐานคติว่า การจัดการภาคราชการที่อาศัยรูปแบบองค์การแบบระบบราชการ (Bureaucracy) ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นรูปแบบของภาคราชการในอนาคตอีกต่อไปแล้ว ในขณะเดียวกันในโลกของนักปฏิบัติปัจจุบัน ในหลายประเทศกำลังดำเนินการปฏิรูประบบราชการตามแนวกระแสใหม่ของ paradigm ใหม่ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านกระบวนทัศน์ของการบริหารปกครองดังกล่าว ได้แก่ สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ กระแสอนุรักษ์นิยม การต่อต้านรัฐบาลและการกระจายอำนาจ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจเสรี และความล้มเหลวของระบบวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจหรือระบบสังคมนิยม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและระบบราชการ ตลอดจนความเข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจเอกชน เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งนั้น การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกิดขึ้นตามมาจากแรงผลักดันของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ปรารถนาให้ระบบราชการต้องมีการปรับตัว เนื่องจากระบบราชการขนาดใหญ่ (Big Government) แบบเดิมๆ นั้นจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการหล่อเลี้ยงระบบ  แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าระบบราชการกลับขาดประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการคลังตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวความคิดทางด้านการจัดการภาครัฐแนวใหม่นั้นก็ได้นำเอาเทคนิควิธีการมากมายขององค์กรภาคเอกชนเข้ามาปรับใช้  โดยให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผลของการบริหารจัดการ และความรับผิดชอบต่อผลงานของผู้บริหาร อีกทั้งมีการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและเป้าหมายของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจนในรูปตัวชี้วัดผลงาน (Key Performance Indicators : KPI) เพื่อทำการตรวจสอบและวัดผลสำเร็จและให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ในขณะเดียวกันจะพยายามให้ความมีอิสระและยืดหยุ่นทางด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรและการใช้ทรัพยากรทางการเงินและบุคลากร
รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (New Public Administration หรือ NPA) มีลักษณะสำคัญ กล่าวคือ รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่สนใจต่อการสร้างตัวแบบความคิดที่เน้นการผสมผสานองค์ความรู้อันหลากหลายทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เพื่อพัฒนาองค์การแบบใหม่ที่ไม่เป็นอำนาจนิยม แต่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในกิจกรรมภาครัฐมากขึ้น นัยหนึ่งนี้จึงเป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจจากรัฐไปสู่ประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกันจึงทำให้ทราบถึงความต้องการอันแท้จริงของประชาชนมากขึ้น แม้นักรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ยอมรับว่าการจัดองค์การแบบนี้อาจมีผลเสียต่อประสิทธิภาพและไม่เป็นการประหยัดก็ตาม แต่ก็คุ้มค่าเมื่อมองในแง่การปรับตัวและความยืดหยุ่นของระบบราชการเพื่อ ตอบสนองเอาใจใส่ประชาชนผู้รับบริการมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งเสริมต่อความเป็นธรรมทางสังคมในการให้บริการสาธารณะ
กล่าวโดยสรุป กรอบแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่นั้นมีค่านิยมที่สำคัญ คือ การผลักดันให้ระบบบริหารราชการนั้นสามารถที่จะสร้างความเท่าเทียมในสังคมขึ้นได้ ซึ่งมีหลักการบริหารแบบประชาธิปไตยเป็นฐานรองรับอยู่ อีกทั้งยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พยายามแก้ไขด้านวิกฤตเอกลักษณ์ทางรัฐประศาสนศาสตร์อีกด้วย โดยการพยายามสร้างทฤษฎีแนวความคิดให้เป็นของตัวเอง แม้ว่าจะมีการหยิบยืมทฤษฎีต่างๆ จากสาขาวิชาอื่นๆ มาบ้างก็ตาม อย่างไรก็ดี รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ยังคงเป็นหนึ่งในแนวคิดและแนวทางที่พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบราชการ โดยต้องคำนึงถึงค่านิยมที่ปรากฏอยู่ในข้อเท็จจริงทางสังคมด้วย ซึ่งทำให้องค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์นั้นมีความสมจริงมากขึ้นต่อการนำไปปรับใช้
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) มีมุมมองที่ตั้งอยู่บนฐานคติว่า การจัดการภาคราชการที่อาศัยรูปแบบองค์การแบบระบบราชการ (Bureaucracy) ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นรูปแบบของภาคราชการในอนาคตอีกต่อไปแล้ว ในขณะเดียวกันในโลกของนักปฏิบัติปัจจุบัน ในหลายประเทศกำลังดำเนินการปฏิรูประบบราชการตามแนวกระแสใหม่ของ paradigm ใหม่ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านกระบวนทัศน์ของการบริหารปกครองดังกล่าว ได้แก่ สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ กระแสอนุรักษ์นิยม การต่อต้านรัฐบาลและการกระจายอำนาจ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจเสรี และความล้มเหลวของระบบวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจหรือระบบสังคมนิยม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและระบบราชการ ตลอดจนความเข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจเอกชน เป็นต้น
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) ให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผลของการบริหารจัดการ และความรับผิดชอบต่อผลงานของผู้บริหาร โดยจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและเป้าหมายของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจนในรูปตัวชี้วัดผลงาน (Key Performance Indicators : KPI) เพื่อทำการตรวจสอบและวัดผลสำเร็จและให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ในขณะเดียวกันจะพยายามให้ความมีอิสระและยืดหยุ่นทางด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรและการใช้ทรัพยากรทางการเงินและบุคลากร นอกจากนี้ยังพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลและระบบราชการจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติ และดำเนินงานเองโดยตรงไปสู่การเป็นผู้กำกับ ช่วยเหลือ ร่วมมือ สนับสนุนและส่งเสริมให้กลไกตลาด ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ชุมชน และประชาชนสามารถเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทน อันจะนำไปสู่การโอนถ่ายภารกิจ รวมทั้งการลดขนาดและจำกัดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐให้เล็กลงในท้ายที่สุด
การควบคุมและลดขนาดของภาครัฐให้เล็กลง (State Minimalism) การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน (Privatization) การผ่อนคลายการควบคุม (Deregulation) การทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย (Legalization) เป็นต้น
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) ชี้ให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารราชการ อันเนื่องมาจากการขาดความคล่องตัวทางการบริหารจัดการ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัจจัยนำเข้า (Input) และกฎระเบียบ โดยพยายามหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างตัวชี้วัดผลสำเร็จของการบริหารจัดการ ทั้งในแง่ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ตลอดจนการสร้างความพึงพอใจในคุณภาพของการให้บริการประชาชนรวมทั้งนำเอาเทคนิควิธีการบริหารจัดการของภาคธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานของรัฐ อาทิเช่น การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management - TQM) การรื้อปรับระบบ (Reengineering) การจ่ายรางวัลค่าตอบแทนตามผลงาน (Performance-Related Pay) การตรวจสอบผลการดำเนินงาน (Performance Auditing) และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เป็นต้น
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) มีเป้าหมายในเรื่องของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการบริหารการปกครองไปจากเดิม โดยพยายามลดบทบาทและจำกัดขนาดของรัฐบาล เช่น การโอนถ่ายไปสู่ระบบตลาดและภาคธุรกิจเอกชน การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีความทันสมัย การจัดตั้งองค์กรบริหารอิสระหรือองค์กรมหาชน การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง การเสริมสร้างบทบาทของชุมชนและองค์กรอาสาสมัครที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลและระบบราชการจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติ และดำเนินงานเองโดยตรงไปสู่การเป็นผู้กำกับ ช่วยเหลือ ร่วมมือ สนับสนุนและส่งเสริมให้กลไกตลาด ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ชุมชน และประชาชนสามารถเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทน อันจะนำไปสู่การโอนถ่ายภารกิจ การควบคุมและลดขนาดของภาครัฐให้เล็กลง (State Minimalism) การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน (Privatization) การผ่อนคลายการควบคุม (Deregulation) การทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย (Legalization) รวมทั้งการลดขนาดและจำกัดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐให้เล็กลงในท้ายที่สุด
ดังนั้น หากจะกล่าวโดยสรุปถึงการจัดการภาครัฐแนวใหม่นั้นก็จะเห็นว่า กรอบแนวความคิดนี้มีความโดดเด่นอย่างมากในแง่การใช้เครื่องมือมากมายที่สามารถนำมาปรับใช้ในระบบบริหารจัดการภาครัฐให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้นได้ เพราะเครื่องมือที่นำมาจากหลักการจัดการภาคเอกชนนั้นส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรภายในระยะเวลาที่รวดเร็วทันการณ์กับการแข่งขันต่อฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่งในตลาด แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลักการดังกล่าวนี้จะมีข้อดีอยู่ก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าด้วยหลักการที่ต้องการสร้างความรวดเร็วในการทำงานกลับเอื้อให้เกิดช่องว่างของความอยุติธรรมขึ้นได้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับผู้นำมากจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้นำกลายเป็นทรราชในองค์กรได้ในท้ายสุด เพราะฉะนั้นการพิจารณาถึงกรอบแนวความคิดนี้จึงมิอาจมองเห็นด้านดีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลเสียในด้านตรงข้ามควบคู่กันไปด้วย

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

การปฏิรูปการบริหาราชการไทย




ในปี พ..2430 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แบบตะวันตก จัดการปฏิรูปการบริหาราชการส่วนกลาง ให้ยกเลิกจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา)ซึ่งแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 3 พื้นที่ คือ เขตเหนือ เขตใต้ และเขตชายฝั่งทะเลตะวันออก การทำงานจึงเกิดการซ้ำซ้อนกัน โดยเฉพาะงานศาลยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหามาก โดยเฉพาะกับคนตะวันตก การจัดระบบใหม่โดยทำการแบ่งหน้าที่เป็นเกณฑ์ แทนการแบ่งเป็นพื้นที่ ทรงจัดให้มีกรมต่างๆ ขึ้น 12 กรม ตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ปี พ..2430 ไปเป็นเวลา 5 ปี ทรงจัดให้มีการทดลองระบบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยยึดหลักของ Max Weber เช่น การให้เสนาบดีมาสั่งราชการที่ออฟฟิศ ห้ามสั่งราชการที่บ้าน ทรงจัดให้มีเวลาราชการ ทรงจัดให้มีระบบสารบรรณหนังสือจะต้องมีการบันทึกเลขเข้าออก การทำงานต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ทรงทดลองจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2435 จึงได้ยกฐานะกรมทั้ง 12 กรม ขึ้นเป็นกระทรวง 12 กระทรวง ตามหน้าที่ของตัวเอง วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีจึงถือว่าเป็นวันข้าราชการพลเรือน โครงสร้างหลักของระบบราชการในรูปของกระทรวง ทบวง กรมตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงทุกวันนี้ ไทยได้ใช้วิธีการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่ปี พ.2437 กิจการของรัฐทั้งหมดต้องรายงานตรงต่อกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวเป็นการรวมศูนย์ สามารถสั่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็ว ปัจจุบันรายงานตรงเข้ากระทรวงที่มีถึง 15 กระทรวง 129 กรม 1800 กอง ของส่วนกลาง ทำให้การสั่งงานล่าช้ากว่าสมัยก่อนมากเพราะศูนย์รวมอำนาจกระจาย การแก้ปัญหาส่วนใหญ่จึงแก้ไม่ได้

ปัจจุบัน
แนวคิดการปรับปรุงระบบราชการไทย มีแนวคิดดังนี้
1.ต้องการเปลี่ยนจากรวมอำนาจ อำนาจกระจายศูนย์ โดยให้กระทรวง ทบวง กรม มอบอำนาจกลับมาให้จังหวัดทั้งหมด (Deconcentration)
2.งานสำคัญที่ท้องถิ่นทำได้ ให้กระจายมาให้ท้องถิ่นทำ (Decentralization)การที่จะทำได้ต้องมีการกระจาย 3 กระจาย คือ
2.1 กระจายคนลงมาที่ท้องถิ่น
2.2 กระจายเงินลงมาที่ท้องถิ่
2.3 กระจายงาน
3.การสละอำนาจ (Devolution)งานใดที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่ควรทำ เช่น งานประปา
4.ลดระเบียบความเป็นราชการลง (Debureaucratization)เช่น จัดให้มีทางออกมากขึ้น จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่บริการประชาชน จัดให้มี One stop unit
5.กาเปิดระบบราชการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย (Democratization)เป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการประชาชน โรงพักทุกโรงควรมีคณะกรรมการประชาชน จังหวัดควรมีคณะกรรมการประชาคมจังหวัด เป็นตัวแทนจากทุกหมู่เหล่าเปลี่ยนจากนิติรัฐให้เป็นประชารัฐ เปลี่ยนการประเมินผลให้เป็นระบบเปิด จัดให้มีสัญญาประชาคม
6.การจัดให้มีระบบมาตรฐานภาครัฐ (Public sector standard management system and outcome – PSO)เรื่องผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อนำมาใช้แทน ISO ซึ่งไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ต่างประเทศสูงมาก
7.การลดขนาดภาครัฐ (Down sizing)
7.1 โครงการเกษียณก่อนกำหนด โครงการนี้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้กำหนดให้สิ้นสุดโครงการในปี 2544 (เริ่ม 2542)แม้ว่าจะไม่บรรลุตามเป้าหมายก็ตาม(แต่ในปัจจุบันนี้โครงการนี้ยังคงมีอยู่)
7.2 การบรรจุคนแทนอัตราเกษียณลดลงหรือไม่มีการบรรจุเพิ่มเลย กรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหาการสูญเปล่า และเกิดช่องว่างระหว่างวัยในอนาคต 

แนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐ


การบริหารจัดการภาครัฐเป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากทฤษฎีทางด้านรัฐศาสนศาสตร์ และการบริหารรัฐกิจ ซึ่งมีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักคิดหลายท่านได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการของแนวคิด โดยแบ่งตามลักษณะเค้าโครงความคิดหรือที่เรียกว่าพาราไดม์ ซึ่งพอจำแนกได้ดังนี้
1. การแยกการบริหารกับการเมืองออกจากกันเป็นสองส่วน ( ค.ศ 1900-1926 ) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาบริหารรัฐกิจ เป็นแนวความคิดของการแยกการบริหารกับการเมืองออกจากกันเป็นสองส่วน เป็นแนวความคิดของนักรัฐศาสตร์
Goodnow ได้กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่แตกต่างกันอยู่ 2 ประการคือ การเมืองและการบริหาร กล่าวคือ การเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายหรือการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐ ส่วนการบริหารเป็นการนำนโยบายต่างๆ เหล่านั้น ไปปฏิบัติ
Leonard D. White ได้ชี้ให้เห็นว่า การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซงการบริหาร การศึกษาเรื่องการบริหารรัฐกิจควรจะเป็นการศึกษาในแบบวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาถึง ความจริง ปลอดจาก ค่านิยม ของผู้ที่ศึกษา หน้าที่ของการบริหารก็คือ ประหยัดและประสิทธิภาพ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถือเป็นเรื่องของนักรัฐศาสตร์ในระยะนี้ วิชาการบริหารรัฐกิจถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์
2. หลักของการบริหารจัดการ ( ค.ศ 1927-1937 ) เป็นช่วงที่ต่อจากแนวความคิดแรก โดยมองว่าวิชาการบริหารรัฐกิจเป็นเรื่องของหลักต่างๆ ของการบริหารที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์แน่นอน สามารถค้นพบได้และนักบริหารสามารถที่จะนำเอาหลักต่างๆ เหล่านั้นไปประยุกต์ได้ ในแนวความคิดนี้มุ่งที่สิ่งหรือประเด็นที่ศึกษา ซึ่งก็คือความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของการบริหาร ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับสถาบันที่ศึกษา เพราะมองว่าการบริหารรัฐกิจและธุรกิจสามารถใช้หลักของการบริหารอย่างเดียวกันได้ ตัวอย่างหลักเกณฑ์การบริหารที่มีชื่อเสียง เช่น หลักที่เป็นหน้าที่ของนักบริหาร คือ POSDCORB ของ Gulic และ Urwick เป็นต้น ต่อมาพาราไดม์นี้ได้รับการโจมตีจากนักวิชาการสมัยต่อมา ว่าการบริหารกับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และหลักการบริหารต่างๆ นั้นไม่สอดคล้องลงรอยตามหลักของเหตุผล หลักทุกอย่างของการบริหารจะมีหลักที่ตรงกันข้ามกันเสมอ หลักต่างๆ ของการบริหารไม่สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ จะเป็นได้แค่เพียงภาษิตทางการบริหารเท่านั้น
3. การบริหารรัฐกิจ คือ รัฐศาสตร์ (ค.ศ.1950-1970 ) เป็นยุคที่วิชาการบริหารรัฐกิจได้กลับคืนไปเป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์อีกครั้ง ทำให้มีการกำหนดสถาบันที่จะศึกษาใหม่ว่า คือการบริหารราชการของรัฐบาล แต่ไม่ได้พิจารณาสิ่งที่มุ่งศึกษา (Focus) ไป และในยุคนี้ การศึกษาไม่มีความก้าวหน้าในการศึกษามากนักและนักวิชาการบริหารรัฐกิจเริ่มเห็นความต่ำต้อยและใช้ประโยชน์ของการศึกษาในแนวทางนี้
4. การบริหารรัฐกิจ คือวิทยาการทางการบริหาร ( ค. ศ. 1956-1970 ) เป็นช่วงที่นักวิชาการทางการบริหารรัฐกิจได้เริ่มค้นหาแนวทางใหม่ โดยได้เริ่มมาศึกษาถึงวิทยาการทางการบริหาร ซึ่งหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีองค์การ(Organization Theory) และวิทยาการจัดการ (Management Science) การศึกษาทฤษฎีองค์การเป็นการศึกษาของนักวิชาการทางจิตวิทยาสังคม สังคมวิทยาบริหารรัฐกิจ และบริหารรัฐกิจที่จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมขององค์การ พฤติกรรมของคนดีขึ้น ส่วนวิทยาการจัดการเป็นการศึกษาของนักวิชาการทางด้านสถิติ การวิเคราะห์ระบบ คอมพิวเตอร์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบริหารรัฐกิจ ที่จะช่วยให้การบราหรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเพื่อที่จะใช้วัดประสิทธิผลของการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องแน่นอนยิ่งขึ้น การศึกษาในพาราไดม์นี้จึงเป็นการศึกษาที่มุ่งถึงสิ่งหรือประเด็นที่ศึกษา (Focus) แต่ไม่กำหนดสถานที่จะศึกษา (Lucus) เพราะมองว่าการบริหารไม่ว่าจะเป็นการบริหารรัฐกิจหรือธุรกิจ หรือสถาบันอะไรก็ตามย่อมไม่มีความแตกต่างกัน
5. การบริหารรัฐกิจ คือการบริหารรัฐกิจ (ค.ศ. 1970 ) นักบริหารรัฐกิจได้พยายามที่จะสร้างพาราไดม์ใหม่ๆ ขึ้นมาแทนพาราไดม์เก่าๆ ที่เคยมีมาก่อนจะเป็นลักษณะของสหวิทยาการ การสังเคราะห์ ความรู้ความสามารถในสาขาวิชาการต่างๆ มาใช้แก้ปัญหาในสังคม ความโน้มเอียงไปสู่เรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในเมือง ความสัมพันธ์ทางการบริหารระหว่างองค์การของรัฐและองค์การของเอกชน เขตแดนร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและสังคม นอกจากนี้นักวิชาการบางคนยังสนใจเพิ่มขึ้นในเรื่องของนโยบายศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง กระบวนการกำหนด และการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ และการวัดผลได้ของนโยบาย อันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันอยู่แยกไม่ออก
6. การจัดการภาครัฐ ( Public management) ในทศวรรษ 1970 เมื่อสาขาวิเคราะห์นโยบายเริ่มฝึกคนเข้าไปเป็นนักบริหารในภาครัฐ ก็เริ่มเห็นปัญหาทันทีว่า จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการสร้างทางเลือกนโยบาย ข้อสำคัญโอกาสที่จะใช้ทักษะวิเคราะห์นโยบายนั้นค่อนข้างน้อย ผู้บริหารเองก็ต้องการทักษะการจัดการมากกว่า สถาบันที่สอนสาขาการวิเคราะห์นโยบายจึงเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ในด้านการจัดการ การวิเคราะห์นโยบายจึงหันไปเรียกแนวทางที่เปิดใหม่นี้ว่า การจัดการภาครัฐ เนื้อหาของหลักสูตรการจัดการภาครัฐ ก็คือ หลักสูตรการจัดการทั่วไป ในยุคที่หลักการบริหารรุ่งโรจน์ในสมัยนีโอคลาสสิกนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหลักเหตุผลหรือจักรกลกับกลุ่มมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต กลุ่มเหตุผล ประกอบด้วย การศึกษาของกลุ่มเหตุผลจะเน้นการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบคำถามทางการจัดการ เน้นการวัดผลงานการให้รางวัลโดยอาศัยผลงานที่มีหลักฐาน
ในช่วงทศวรรษ 1970 หลักเหตุผลครอบงำความคิดของการจัดการภาครัฐเกือบจะโดยสิ้นเชิง แต่พอต้นทศวรรษ 1980 หนังสือชื่อ In Search of Execellence ของปีเตอร์ (Peters) และวอเตอร์แมน (Waterman) ได้เปลี่ยนความคิดนี้ เพราะในหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของบริษัทอเมริกันส่วนใหม่ไม่ได้ใช้หลักเหตุผล ตรงกันข้ามกลับใช้หลักสิ่งมีชีวิตและกลยุทธ์ด้านความเป็นมนุษย์ รวมทั้งแนวทางวัฒนธรรมองค์การ หนังสือเล่มนี้จึงมีส่วนกระตุ้นการบริหารภาครัฐให้หันมาสนใจมิติมนุษย์ ซึ่งไม่นานก็แพร่ไปทั่วอาณาบริเวณของการศึกษาการจัดการภาครัฐ นักวิชาการหลายคนเริ่มคิดว่าอาจสร้างความเป็นเลิศให้กับการบริหารภาครัฐได้ ตัวอย่างเช่น การเสนอให้ใช้แนวทางการพัฒนาองค์การ (Organizational development) การจัดการคุณภาพรวมทั้งองค์การ (Total quality management) และการจัดการกลยุทธ์ที่เน้นวัฒนธรรม (Culturally oriented strategic management)
นอกจากนั้นกลุ่มการจัดการภาครัฐยังแบ่งแนวทางการศึกษาของตนออกเป็นอีก 3 สาขา คือ การจัดการเชิงปริมาณหรือเชิงวิเคราะห์ ซึ่งพัฒนามาจากการวิเคราะห์นโยบายและเศรษฐศาสตร์ จะเน้นการใช้เทคนิคเชิงกลยุทธ์ชั้นสูงต่าง ๆ เช่น การพยากรณ์ การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ การจัดการเพื่อการปลดปล่อย เป็นแนวคิดที่มองว่าข้าราชการไม่ได้เป็นคนเลว ผู้บริหารภาครัฐเป็นคนที่มีความสามารถสูงและรู้วิธีการจัดการดี แต่ปัจจุบันกำลังติดต่ออยู่กับดักของระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะปลดปล่อยข้าราชการออกจากระบบนี้ นักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะต้องให้ผู้บริหารได้มีโอกาสบริหาร ต้องสนับสนุนให้เกิดการคิดกลยุทธ์ต่าง ๆ โดยหาทางลดกฎระเบียบและการจัดการที่มุ่งเน้นตลาด
7. การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ถ้ามองการพัฒนาการการจัดการภาครัฐแนวใหม่จะเห็นว่า พัฒนามาจากการจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดการภาครัฐในแนวทางการจัดการเพื่อการปลดปล่อยและแนวทางการจัดการทีมุ่งเน้นตลาด และการจัดการภาครัฐทั้ง 2 แนวทางนี้ก็มีรากฐานมาจากทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ และเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ หรือเศรษฐศาสตร์องค์การ มีลักษณะเด่นคือ ความพยายามแก้ปัญหาของระบบราชการแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพและการให้บริการประชาชน ซึ่งหัวใจสำคัญของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ก็คือ การปฏิรูประบบราชการนั้นเอง
ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ แนวโน้มการเปิดเสรีในด้านต่างๆ เศรษฐกิจไร้พรมแดน การแข่งขันในเวทีโลกรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจ สังคมเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ กระแสสังคมเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยการบริหารจัดการแนวใหม่ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องเพิ่มศักยภาพและความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าองค์กรภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองในด้าน โครงสร้าง ระบบการบริหารจัดการ และบุคลากรเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีพอสมควร แต่องค์กรภาครัฐกลับมีข้อจำกัด เนื่องจากที่ผ่านมานั้นระบบราชการไทยมีปัญหาที่สำคัญคือ ความเสื่อมถอยของระบบราชการ และการขาดธรรมาภิบาล ถ้าภาครัฐไม่ปรับเปลี่ยนและพัฒนาการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อไปสู่องค์กรสมัยใหม่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ก็จะส่งผลบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตด้วย แนวทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นองค์กรสมัยใหม่ ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการดังนี้
1.การปรับวิธีการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเน้นผลงาน
2.ปรับการบริหารงานให้เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้
3.ปรับบทบาทภารกิจและกลยุทธ์โดยให้เอกชน และชุมชนมีส่วนร่วม
ดังนั้นการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ New Public Management จึงเป็นแนวคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการภาครัฐซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ของภาครัฐและยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม มีแนวทางในการบริหารจัดการดังนี้
1. การให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน
2. คำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
3. รัฐพึงทำบทบาทเฉพาะที่รัฐทำได้ดีเท่านั้น
4. ลดการควบคุมจากส่วนกลาง เพิ่มอิสระแก่หน่วยงาน
5. ระบบการบริหารงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
6. มีระบบสนับสนุนทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี
7. เน้นการแข่งขันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงมีความจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาองค์กรภาครัฐให้มีศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยการริเริ่มแนวคิดใหม่ขององค์กรในอนาคต ซึ่งก็คือ องค์กรจะต้องมีการปรับตัวทั้งทางด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และค่านิยมขององค์กร ผู้บริหารจะต้องถ่วงดุลระหว่างโครงสร้าง รูปแบบ และกระบวนการบริหารจัดการ ระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบการจูงใจและลงโทษ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการวางแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน ดังนั้นรูปแบบขององค์กรในอนาคตจะมีลักษณะเป็นแบบราบ มีการทำงานเป็นทีม และการเชื่อมโยงแบบเครือข่าย แต่โครงสร้างดังกล่าวจะไม่คงที่ตายตัว คือ จะต้องมีความยืดหยุ่นเตรียมพร้อมรับกับการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน และการค้นหาแนวกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
องค์กรในอนาคตจะให้ความสำคัญกับความหลากหลายของการเรียนรู้ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐในอนาคตจะต้องมีการนำเครื่องมือการจัดการต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายมาปรับใช้ในองค์กรให้เหมาะสม ดังนั้นการที่จะนำเครื่องมือในการบริหารจัดการต่างๆ มาใช้และให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้อย่างแท้จริงนั้นต้องปฏิบัติดังนี้
1.ศึกษาเครื่องมือทางการจัดการต่างๆ ให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนที่จะเริ่มใช้งานเนื่องจากเครื่องมือแต่ละประเภทนั้นมีข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน
2.ผู้บริหารภายในองค์กรจะต้องผู้ที่สนับสนุนและผลักดันการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆ ไม่ใช่อาศัยนักวิชาการหรือที่ปรึกษาข้างนอกเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บริหารจัดมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีและสามารถนำไปประยุทธ์ใช้กับองค์กรได้อย่างเหมาะสม
3.ในการนำเครื่องมือในการจัดการมาใช้จะต้องปรับปรุง พัฒนาเครื่องมือทางการจัดการให้มีความเหมาะสมกับองค์กรไม่ใช่ปรับองค์กรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเครื่องมือ
เครื่องมือการจัดการที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันมีมากมายประกอบด้วย Activity Based Management- Balanced Scorecard -Benchmarking -Change Management Programs -Contingency Planning - Core Competencies - Corporate Code of Ethics - Corporate Venturing -Customer Relationship Management - Customer Segmentation -Customer Surveys - Downsizing Economics -Value-Added Analysis -Growth Strategies -Knowledge Management -Merger Integration Teams Mission and Vision Statement Outsourcing- Pay-for-Performance Reengineering- Stock Buybacks -Strategic Alliances -Strategic Planning -Supply Chain Integration - Total Quality Management ( TQM ) -New Pubice Managemant ( NPM ) -Good govermance - Results Based Managemant (RBM )- Learning organization ในการบริหารองค์กรนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนนั้นจะประยุกต์ทฤษฎีหรือเครื่องมือทางการจัดการแบบใดมาใช้