วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

การปฏิรูปการบริหาราชการไทย




ในปี พ..2430 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แบบตะวันตก จัดการปฏิรูปการบริหาราชการส่วนกลาง ให้ยกเลิกจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา)ซึ่งแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 3 พื้นที่ คือ เขตเหนือ เขตใต้ และเขตชายฝั่งทะเลตะวันออก การทำงานจึงเกิดการซ้ำซ้อนกัน โดยเฉพาะงานศาลยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหามาก โดยเฉพาะกับคนตะวันตก การจัดระบบใหม่โดยทำการแบ่งหน้าที่เป็นเกณฑ์ แทนการแบ่งเป็นพื้นที่ ทรงจัดให้มีกรมต่างๆ ขึ้น 12 กรม ตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ปี พ..2430 ไปเป็นเวลา 5 ปี ทรงจัดให้มีการทดลองระบบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยยึดหลักของ Max Weber เช่น การให้เสนาบดีมาสั่งราชการที่ออฟฟิศ ห้ามสั่งราชการที่บ้าน ทรงจัดให้มีเวลาราชการ ทรงจัดให้มีระบบสารบรรณหนังสือจะต้องมีการบันทึกเลขเข้าออก การทำงานต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ทรงทดลองจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2435 จึงได้ยกฐานะกรมทั้ง 12 กรม ขึ้นเป็นกระทรวง 12 กระทรวง ตามหน้าที่ของตัวเอง วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีจึงถือว่าเป็นวันข้าราชการพลเรือน โครงสร้างหลักของระบบราชการในรูปของกระทรวง ทบวง กรมตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงทุกวันนี้ ไทยได้ใช้วิธีการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่ปี พ.2437 กิจการของรัฐทั้งหมดต้องรายงานตรงต่อกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวเป็นการรวมศูนย์ สามารถสั่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็ว ปัจจุบันรายงานตรงเข้ากระทรวงที่มีถึง 15 กระทรวง 129 กรม 1800 กอง ของส่วนกลาง ทำให้การสั่งงานล่าช้ากว่าสมัยก่อนมากเพราะศูนย์รวมอำนาจกระจาย การแก้ปัญหาส่วนใหญ่จึงแก้ไม่ได้

ปัจจุบัน
แนวคิดการปรับปรุงระบบราชการไทย มีแนวคิดดังนี้
1.ต้องการเปลี่ยนจากรวมอำนาจ อำนาจกระจายศูนย์ โดยให้กระทรวง ทบวง กรม มอบอำนาจกลับมาให้จังหวัดทั้งหมด (Deconcentration)
2.งานสำคัญที่ท้องถิ่นทำได้ ให้กระจายมาให้ท้องถิ่นทำ (Decentralization)การที่จะทำได้ต้องมีการกระจาย 3 กระจาย คือ
2.1 กระจายคนลงมาที่ท้องถิ่น
2.2 กระจายเงินลงมาที่ท้องถิ่
2.3 กระจายงาน
3.การสละอำนาจ (Devolution)งานใดที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่ควรทำ เช่น งานประปา
4.ลดระเบียบความเป็นราชการลง (Debureaucratization)เช่น จัดให้มีทางออกมากขึ้น จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่บริการประชาชน จัดให้มี One stop unit
5.กาเปิดระบบราชการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย (Democratization)เป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการประชาชน โรงพักทุกโรงควรมีคณะกรรมการประชาชน จังหวัดควรมีคณะกรรมการประชาคมจังหวัด เป็นตัวแทนจากทุกหมู่เหล่าเปลี่ยนจากนิติรัฐให้เป็นประชารัฐ เปลี่ยนการประเมินผลให้เป็นระบบเปิด จัดให้มีสัญญาประชาคม
6.การจัดให้มีระบบมาตรฐานภาครัฐ (Public sector standard management system and outcome – PSO)เรื่องผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อนำมาใช้แทน ISO ซึ่งไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ต่างประเทศสูงมาก
7.การลดขนาดภาครัฐ (Down sizing)
7.1 โครงการเกษียณก่อนกำหนด โครงการนี้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้กำหนดให้สิ้นสุดโครงการในปี 2544 (เริ่ม 2542)แม้ว่าจะไม่บรรลุตามเป้าหมายก็ตาม(แต่ในปัจจุบันนี้โครงการนี้ยังคงมีอยู่)
7.2 การบรรจุคนแทนอัตราเกษียณลดลงหรือไม่มีการบรรจุเพิ่มเลย กรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหาการสูญเปล่า และเกิดช่องว่างระหว่างวัยในอนาคต 

แนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐ


การบริหารจัดการภาครัฐเป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากทฤษฎีทางด้านรัฐศาสนศาสตร์ และการบริหารรัฐกิจ ซึ่งมีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักคิดหลายท่านได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการของแนวคิด โดยแบ่งตามลักษณะเค้าโครงความคิดหรือที่เรียกว่าพาราไดม์ ซึ่งพอจำแนกได้ดังนี้
1. การแยกการบริหารกับการเมืองออกจากกันเป็นสองส่วน ( ค.ศ 1900-1926 ) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาบริหารรัฐกิจ เป็นแนวความคิดของการแยกการบริหารกับการเมืองออกจากกันเป็นสองส่วน เป็นแนวความคิดของนักรัฐศาสตร์
Goodnow ได้กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่แตกต่างกันอยู่ 2 ประการคือ การเมืองและการบริหาร กล่าวคือ การเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายหรือการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐ ส่วนการบริหารเป็นการนำนโยบายต่างๆ เหล่านั้น ไปปฏิบัติ
Leonard D. White ได้ชี้ให้เห็นว่า การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซงการบริหาร การศึกษาเรื่องการบริหารรัฐกิจควรจะเป็นการศึกษาในแบบวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาถึง ความจริง ปลอดจาก ค่านิยม ของผู้ที่ศึกษา หน้าที่ของการบริหารก็คือ ประหยัดและประสิทธิภาพ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถือเป็นเรื่องของนักรัฐศาสตร์ในระยะนี้ วิชาการบริหารรัฐกิจถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์
2. หลักของการบริหารจัดการ ( ค.ศ 1927-1937 ) เป็นช่วงที่ต่อจากแนวความคิดแรก โดยมองว่าวิชาการบริหารรัฐกิจเป็นเรื่องของหลักต่างๆ ของการบริหารที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์แน่นอน สามารถค้นพบได้และนักบริหารสามารถที่จะนำเอาหลักต่างๆ เหล่านั้นไปประยุกต์ได้ ในแนวความคิดนี้มุ่งที่สิ่งหรือประเด็นที่ศึกษา ซึ่งก็คือความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของการบริหาร ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับสถาบันที่ศึกษา เพราะมองว่าการบริหารรัฐกิจและธุรกิจสามารถใช้หลักของการบริหารอย่างเดียวกันได้ ตัวอย่างหลักเกณฑ์การบริหารที่มีชื่อเสียง เช่น หลักที่เป็นหน้าที่ของนักบริหาร คือ POSDCORB ของ Gulic และ Urwick เป็นต้น ต่อมาพาราไดม์นี้ได้รับการโจมตีจากนักวิชาการสมัยต่อมา ว่าการบริหารกับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และหลักการบริหารต่างๆ นั้นไม่สอดคล้องลงรอยตามหลักของเหตุผล หลักทุกอย่างของการบริหารจะมีหลักที่ตรงกันข้ามกันเสมอ หลักต่างๆ ของการบริหารไม่สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ จะเป็นได้แค่เพียงภาษิตทางการบริหารเท่านั้น
3. การบริหารรัฐกิจ คือ รัฐศาสตร์ (ค.ศ.1950-1970 ) เป็นยุคที่วิชาการบริหารรัฐกิจได้กลับคืนไปเป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์อีกครั้ง ทำให้มีการกำหนดสถาบันที่จะศึกษาใหม่ว่า คือการบริหารราชการของรัฐบาล แต่ไม่ได้พิจารณาสิ่งที่มุ่งศึกษา (Focus) ไป และในยุคนี้ การศึกษาไม่มีความก้าวหน้าในการศึกษามากนักและนักวิชาการบริหารรัฐกิจเริ่มเห็นความต่ำต้อยและใช้ประโยชน์ของการศึกษาในแนวทางนี้
4. การบริหารรัฐกิจ คือวิทยาการทางการบริหาร ( ค. ศ. 1956-1970 ) เป็นช่วงที่นักวิชาการทางการบริหารรัฐกิจได้เริ่มค้นหาแนวทางใหม่ โดยได้เริ่มมาศึกษาถึงวิทยาการทางการบริหาร ซึ่งหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีองค์การ(Organization Theory) และวิทยาการจัดการ (Management Science) การศึกษาทฤษฎีองค์การเป็นการศึกษาของนักวิชาการทางจิตวิทยาสังคม สังคมวิทยาบริหารรัฐกิจ และบริหารรัฐกิจที่จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมขององค์การ พฤติกรรมของคนดีขึ้น ส่วนวิทยาการจัดการเป็นการศึกษาของนักวิชาการทางด้านสถิติ การวิเคราะห์ระบบ คอมพิวเตอร์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบริหารรัฐกิจ ที่จะช่วยให้การบราหรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเพื่อที่จะใช้วัดประสิทธิผลของการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องแน่นอนยิ่งขึ้น การศึกษาในพาราไดม์นี้จึงเป็นการศึกษาที่มุ่งถึงสิ่งหรือประเด็นที่ศึกษา (Focus) แต่ไม่กำหนดสถานที่จะศึกษา (Lucus) เพราะมองว่าการบริหารไม่ว่าจะเป็นการบริหารรัฐกิจหรือธุรกิจ หรือสถาบันอะไรก็ตามย่อมไม่มีความแตกต่างกัน
5. การบริหารรัฐกิจ คือการบริหารรัฐกิจ (ค.ศ. 1970 ) นักบริหารรัฐกิจได้พยายามที่จะสร้างพาราไดม์ใหม่ๆ ขึ้นมาแทนพาราไดม์เก่าๆ ที่เคยมีมาก่อนจะเป็นลักษณะของสหวิทยาการ การสังเคราะห์ ความรู้ความสามารถในสาขาวิชาการต่างๆ มาใช้แก้ปัญหาในสังคม ความโน้มเอียงไปสู่เรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในเมือง ความสัมพันธ์ทางการบริหารระหว่างองค์การของรัฐและองค์การของเอกชน เขตแดนร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและสังคม นอกจากนี้นักวิชาการบางคนยังสนใจเพิ่มขึ้นในเรื่องของนโยบายศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง กระบวนการกำหนด และการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ และการวัดผลได้ของนโยบาย อันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันอยู่แยกไม่ออก
6. การจัดการภาครัฐ ( Public management) ในทศวรรษ 1970 เมื่อสาขาวิเคราะห์นโยบายเริ่มฝึกคนเข้าไปเป็นนักบริหารในภาครัฐ ก็เริ่มเห็นปัญหาทันทีว่า จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการสร้างทางเลือกนโยบาย ข้อสำคัญโอกาสที่จะใช้ทักษะวิเคราะห์นโยบายนั้นค่อนข้างน้อย ผู้บริหารเองก็ต้องการทักษะการจัดการมากกว่า สถาบันที่สอนสาขาการวิเคราะห์นโยบายจึงเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ในด้านการจัดการ การวิเคราะห์นโยบายจึงหันไปเรียกแนวทางที่เปิดใหม่นี้ว่า การจัดการภาครัฐ เนื้อหาของหลักสูตรการจัดการภาครัฐ ก็คือ หลักสูตรการจัดการทั่วไป ในยุคที่หลักการบริหารรุ่งโรจน์ในสมัยนีโอคลาสสิกนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหลักเหตุผลหรือจักรกลกับกลุ่มมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต กลุ่มเหตุผล ประกอบด้วย การศึกษาของกลุ่มเหตุผลจะเน้นการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบคำถามทางการจัดการ เน้นการวัดผลงานการให้รางวัลโดยอาศัยผลงานที่มีหลักฐาน
ในช่วงทศวรรษ 1970 หลักเหตุผลครอบงำความคิดของการจัดการภาครัฐเกือบจะโดยสิ้นเชิง แต่พอต้นทศวรรษ 1980 หนังสือชื่อ In Search of Execellence ของปีเตอร์ (Peters) และวอเตอร์แมน (Waterman) ได้เปลี่ยนความคิดนี้ เพราะในหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของบริษัทอเมริกันส่วนใหม่ไม่ได้ใช้หลักเหตุผล ตรงกันข้ามกลับใช้หลักสิ่งมีชีวิตและกลยุทธ์ด้านความเป็นมนุษย์ รวมทั้งแนวทางวัฒนธรรมองค์การ หนังสือเล่มนี้จึงมีส่วนกระตุ้นการบริหารภาครัฐให้หันมาสนใจมิติมนุษย์ ซึ่งไม่นานก็แพร่ไปทั่วอาณาบริเวณของการศึกษาการจัดการภาครัฐ นักวิชาการหลายคนเริ่มคิดว่าอาจสร้างความเป็นเลิศให้กับการบริหารภาครัฐได้ ตัวอย่างเช่น การเสนอให้ใช้แนวทางการพัฒนาองค์การ (Organizational development) การจัดการคุณภาพรวมทั้งองค์การ (Total quality management) และการจัดการกลยุทธ์ที่เน้นวัฒนธรรม (Culturally oriented strategic management)
นอกจากนั้นกลุ่มการจัดการภาครัฐยังแบ่งแนวทางการศึกษาของตนออกเป็นอีก 3 สาขา คือ การจัดการเชิงปริมาณหรือเชิงวิเคราะห์ ซึ่งพัฒนามาจากการวิเคราะห์นโยบายและเศรษฐศาสตร์ จะเน้นการใช้เทคนิคเชิงกลยุทธ์ชั้นสูงต่าง ๆ เช่น การพยากรณ์ การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ การจัดการเพื่อการปลดปล่อย เป็นแนวคิดที่มองว่าข้าราชการไม่ได้เป็นคนเลว ผู้บริหารภาครัฐเป็นคนที่มีความสามารถสูงและรู้วิธีการจัดการดี แต่ปัจจุบันกำลังติดต่ออยู่กับดักของระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะปลดปล่อยข้าราชการออกจากระบบนี้ นักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะต้องให้ผู้บริหารได้มีโอกาสบริหาร ต้องสนับสนุนให้เกิดการคิดกลยุทธ์ต่าง ๆ โดยหาทางลดกฎระเบียบและการจัดการที่มุ่งเน้นตลาด
7. การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ถ้ามองการพัฒนาการการจัดการภาครัฐแนวใหม่จะเห็นว่า พัฒนามาจากการจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดการภาครัฐในแนวทางการจัดการเพื่อการปลดปล่อยและแนวทางการจัดการทีมุ่งเน้นตลาด และการจัดการภาครัฐทั้ง 2 แนวทางนี้ก็มีรากฐานมาจากทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ และเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ หรือเศรษฐศาสตร์องค์การ มีลักษณะเด่นคือ ความพยายามแก้ปัญหาของระบบราชการแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพและการให้บริการประชาชน ซึ่งหัวใจสำคัญของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ก็คือ การปฏิรูประบบราชการนั้นเอง
ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ แนวโน้มการเปิดเสรีในด้านต่างๆ เศรษฐกิจไร้พรมแดน การแข่งขันในเวทีโลกรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจ สังคมเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ กระแสสังคมเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยการบริหารจัดการแนวใหม่ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องเพิ่มศักยภาพและความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าองค์กรภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองในด้าน โครงสร้าง ระบบการบริหารจัดการ และบุคลากรเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีพอสมควร แต่องค์กรภาครัฐกลับมีข้อจำกัด เนื่องจากที่ผ่านมานั้นระบบราชการไทยมีปัญหาที่สำคัญคือ ความเสื่อมถอยของระบบราชการ และการขาดธรรมาภิบาล ถ้าภาครัฐไม่ปรับเปลี่ยนและพัฒนาการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อไปสู่องค์กรสมัยใหม่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ก็จะส่งผลบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตด้วย แนวทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นองค์กรสมัยใหม่ ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการดังนี้
1.การปรับวิธีการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเน้นผลงาน
2.ปรับการบริหารงานให้เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้
3.ปรับบทบาทภารกิจและกลยุทธ์โดยให้เอกชน และชุมชนมีส่วนร่วม
ดังนั้นการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ New Public Management จึงเป็นแนวคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการภาครัฐซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ของภาครัฐและยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม มีแนวทางในการบริหารจัดการดังนี้
1. การให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน
2. คำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
3. รัฐพึงทำบทบาทเฉพาะที่รัฐทำได้ดีเท่านั้น
4. ลดการควบคุมจากส่วนกลาง เพิ่มอิสระแก่หน่วยงาน
5. ระบบการบริหารงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
6. มีระบบสนับสนุนทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี
7. เน้นการแข่งขันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงมีความจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาองค์กรภาครัฐให้มีศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยการริเริ่มแนวคิดใหม่ขององค์กรในอนาคต ซึ่งก็คือ องค์กรจะต้องมีการปรับตัวทั้งทางด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และค่านิยมขององค์กร ผู้บริหารจะต้องถ่วงดุลระหว่างโครงสร้าง รูปแบบ และกระบวนการบริหารจัดการ ระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบการจูงใจและลงโทษ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการวางแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน ดังนั้นรูปแบบขององค์กรในอนาคตจะมีลักษณะเป็นแบบราบ มีการทำงานเป็นทีม และการเชื่อมโยงแบบเครือข่าย แต่โครงสร้างดังกล่าวจะไม่คงที่ตายตัว คือ จะต้องมีความยืดหยุ่นเตรียมพร้อมรับกับการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน และการค้นหาแนวกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
องค์กรในอนาคตจะให้ความสำคัญกับความหลากหลายของการเรียนรู้ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐในอนาคตจะต้องมีการนำเครื่องมือการจัดการต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายมาปรับใช้ในองค์กรให้เหมาะสม ดังนั้นการที่จะนำเครื่องมือในการบริหารจัดการต่างๆ มาใช้และให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้อย่างแท้จริงนั้นต้องปฏิบัติดังนี้
1.ศึกษาเครื่องมือทางการจัดการต่างๆ ให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนที่จะเริ่มใช้งานเนื่องจากเครื่องมือแต่ละประเภทนั้นมีข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน
2.ผู้บริหารภายในองค์กรจะต้องผู้ที่สนับสนุนและผลักดันการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆ ไม่ใช่อาศัยนักวิชาการหรือที่ปรึกษาข้างนอกเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บริหารจัดมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีและสามารถนำไปประยุทธ์ใช้กับองค์กรได้อย่างเหมาะสม
3.ในการนำเครื่องมือในการจัดการมาใช้จะต้องปรับปรุง พัฒนาเครื่องมือทางการจัดการให้มีความเหมาะสมกับองค์กรไม่ใช่ปรับองค์กรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเครื่องมือ
เครื่องมือการจัดการที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันมีมากมายประกอบด้วย Activity Based Management- Balanced Scorecard -Benchmarking -Change Management Programs -Contingency Planning - Core Competencies - Corporate Code of Ethics - Corporate Venturing -Customer Relationship Management - Customer Segmentation -Customer Surveys - Downsizing Economics -Value-Added Analysis -Growth Strategies -Knowledge Management -Merger Integration Teams Mission and Vision Statement Outsourcing- Pay-for-Performance Reengineering- Stock Buybacks -Strategic Alliances -Strategic Planning -Supply Chain Integration - Total Quality Management ( TQM ) -New Pubice Managemant ( NPM ) -Good govermance - Results Based Managemant (RBM )- Learning organization ในการบริหารองค์กรนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนนั้นจะประยุกต์ทฤษฎีหรือเครื่องมือทางการจัดการแบบใดมาใช้

แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่


จุดตั้งต้นของแนวคิด NPM เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s แนวคิดในระยะเริ่มต้น มุ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ การปรับโครงสร้างให้เล็กลง และยอมรับการใช้กลไกตลาดและการแข่งขันตามแบบของเอกชนมาใช้ในภาครัฐ อันเป็นการนำความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีการพัฒนาและแบ่งสาขาตามความเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ มาบูรณาการเพื่อเชื่อมมิติทางนโยบายและมิติการจัดการให้สอดคล้องกัน (Peters & Pierre, 1998)
แนวคิดการจัดการภาครัฐเป็นผลรวมของปรัชญาสองกระแสหลัก ได้แก่ ปรัชญาในกลุ่ม NIE และปรัชญาของการจัดการ โดยนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งศึกษาการลงทุนและการใช้ทรัพยากรของภาครัฐและภาคเอกชน พบว่า ในภาคเอกชนมีการลงทุนทำให้เกิดการค้าขายและเปลี่ยนเป็นผลกำไร ส่วนภาครัฐการลงทุนได้มาจากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมและนำมาเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการสาธารณะ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน ขณะทีประสิทธิภาพของภาคเอกชน หมายถึง การได้รับผลกำไรสูงสุดประสิทธิภาพของภาครัฐก็หมายถึง การมีต้นทุนต่ำสุดซึ่งมิได้แตกต่างกัน นักวิชาการในกลุ่มนี้สนับสนุนให้รัฐเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมมาใช้การจูงใจด้วยกลไกตลาดดังเช่นภาคเอกชน ส่วนปรัชญาการจัดการสนับสนุนการใช้รูปแบบการจัดการของภาคเอกชนมาใช้ในภาครัฐ (Pollitt & Bouckaert, 2004)
อเมริกา เป็นแรงจูงใจให้เกิดกระแสการปฏิรูประบบราชการขึ้นทั่วโลก วิธีการที่ใช้โดยทั่วไปในการปฏิรูปและการปรับปรุงกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐคือ
(1) การเปลี่ยนแปลงให้บริการของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบการพาณิชย์
(2) การเปลี่ยนแปลงหน่วยงานภาครัฐไปเป็นองค์การมหาชน
(3) การปรับปรุงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้มีการกระจายอำนาจ และใช้รูปแบบของผู้ประกอบการ เช่น การจ่ายค่าตอบแทนตามบริการหรือตามผลงาน (Boston, Martin, Pallot, & Walsh, 1996)
บทความที่สำคัญซึ่งอธิบายลักษณะของแนวคิดการจัดการภาครัฐ ได้แก่บทความของ Hood (1991) เรื่อง A Public management for all seasons? บทความของOsborne and Gaebler (1992) เรื่อง Reinventing government: How the entrepreneurial spirit is transforming the public sector และบทความของ Organization for Economic Cooperation and Development [OECD] (1995) เรื่อง Governance in transition: Public management reforms in OECD countries
Hood (1991) นำเสนอหลักการจัดการ 7 ประการ คือ
(1) การจัดการโดยนักบริหารที่ใช้ความรู้ทางวิชาชีพ เพื่อใช้ทักษะและประสบการณ์ของตนอย่างอิสระ
(2) การกำหนดมาตรฐานและเครื่องชี้วัดผลงานที่ชัดเจน
(3) การเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ
(4) การปรับรูปแบบการบริหารเป็นแบบกระจายอำนาจ
(5) การปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้มีการแข่งขันมากขึ้น
(6) การใช้วิธีการบริหารของภาคเอกชน และ
(7) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ
ในสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Clinton และรองประธานาธิบดี Gore (1993) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้ง การล้มละลายของรัฐ จึงได้มีการปฏิรูปโดยมีกระบวนการยกระดับการบริหารภาครัฐ ซึ่งเรียกว่า Reinventing government โดยต้องการให้รัฐมีบทบาทเสมือน ผู้ประกอบการ (entrepreneurial government) โดยปรับปรุงการจัดการให้ยืดหยุ่นและเน้นที่เป้าหมายของรัฐมากขึ้น หลักการสำคัญ 10 ประการ ของรัฐแบบผู้ประกอบการ มีดังนี้ (Osborne & Gaebler, 1992, pp. 22-25)
1. รัฐควรชี้นำทิศทาง (steering) แทนที่จะดำเนินการเอง (rowing)
2. รัฐควรใช้การสนับสนุน และส่งเสริม (empowering communities) แทนที่การควบคุมและออกคำสั่ง (command-and-control)
3. รัฐควรใช้หลักการแข่งขันในการให้บริการสาธารณะ (injecting competition into service delivery)
4. รัฐควรเปลี่ยนการยึดกฎระเบียบมาเป็นการมุ่งเน้นที่งาน (mission driven government; transforming rule driven organizations)
5. รัฐควรมุ่งเน้นที่ผลของงาน (results-oriented) มากกว่ากระบวนการทำงาน (process-oriented)
6. รัฐควรตอบสนองต่อประชาชนเสมือนลูกค้า (customer driven government:meeting the need of customer, not the bureaucracy)
7. รัฐควรหารายได้เองมากกว่าใช้เงิน (focus on earning rather than spending) อันเป็นการใช้ความคิดแบบพ่อค้ามาบริหารราชการ
8. รัฐควรใช้วิธีการวางแผนและมองปัญหาทุกอย่างล่วงหน้า (anticipatory,preventive) ผู้บริหารภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อการป้องกันซึ่งดีกว่าการแก้ไข
9. รัฐควรกระจายอำนาจการจัดการจากลำดับขั้นการบังคับบัญชาไปเป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วม และทำงานเป็นทีม
10. รัฐควรเน้นบทบาทแบบรัฐตลาด (market oriented government) คือ จัดการให้บรรลุตามเป้าหมายด้วยกลไกตลาด

การจัดการภาครัฐแนวใหม่

 

การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) หมายถึง แนวคิดใหม่ทางการบริหารรัฐกิจที่เน้นการนำเอาแนวคิดและแนวปฏิบัติของการจัดการในภาคธุรกิจมาปรับใช้ในองค์การภาครัฐ
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) คือ แนวคิดใหม่ทางการบริหารรัฐกิจที่เน้นการนำเอาแนวคิดและแนวปฏิบัติของการจัดการในภาคธุรกิจมาปรับใช้ในองค์การภาครัฐ นอกจากนี้ยังพบว่าการจัดการภาครัฐแนวใหม่ถือเป็นแนวทางสำคัญต่อการปฏิรูประบบราชการไทยในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ระบบราชการไทยต้องปรับตัวอย่างมากในระยะเวลาอันรวดเร็วให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์และแรงกดดันจากกระแสการปฏิรูประบบราชการของต่างประเทศ
การพัฒนาแนวคิดของรัฐประศาสนศาสตร์นับจากปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามบริบททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เช่น เกิดทัศนะที่มองการบริหารรัฐกิจว่าควรยึดหลักต่างๆ อาทิ หลักการแยกการเมืองออกจากการบริหาร หลักการจัดองค์กรแบบราชการ หรือหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ มาจวบจนถึงหลักการบริหารการจัดการที่เป็นหลักสากล สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกท้าทายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นของการขาดเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานชิ้นสำคัญของ Herbert Simon ในงานที่มีชื่อว่า “Administrative Behavior” ในปี 1946 ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงวิชาการทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์อย่างมาก และทำให้นักวิชาการทางด้านนี้เสื่อมความศรัทธาลงในประเด็นเรื่องความถูกต้องและความเหมาะสมต่อแนวคิดทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์แบบดั้งเดิม
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) มีมุมมองที่ตั้งอยู่บนฐานคติว่า การจัดการภาคราชการที่อาศัยรูปแบบองค์การแบบระบบราชการ (Bureaucracy) ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นรูปแบบของภาคราชการในอนาคตอีกต่อไปแล้ว ในขณะเดียวกันในโลกของนักปฏิบัติปัจจุบัน ในหลายประเทศกำลังดำเนินการปฏิรูประบบราชการตามแนวกระแสใหม่ของ paradigm ใหม่ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านกระบวนทัศน์ของการบริหารปกครองดังกล่าว ได้แก่ สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ กระแสอนุรักษ์นิยม การต่อต้านรัฐบาลและการกระจายอำนาจ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจเสรี และความล้มเหลวของระบบวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจหรือระบบสังคมนิยม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและระบบราชการ ตลอดจนความเข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจเอกชน เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งนั้น การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกิดขึ้นตามมาจากแรงผลักดันของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ปรารถนาให้ระบบราชการต้องมีการปรับตัว เนื่องจากระบบราชการขนาดใหญ่ (Big Government) แบบเดิมๆ นั้นจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการหล่อเลี้ยงระบบ  แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าระบบราชการกลับขาดประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการคลังตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวความคิดทางด้านการจัดการภาครัฐแนวใหม่นั้นก็ได้นำเอาเทคนิควิธีการมากมายขององค์กรภาคเอกชนเข้ามาปรับใช้  โดยให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผลของการบริหารจัดการ และความรับผิดชอบต่อผลงานของผู้บริหาร อีกทั้งมีการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและเป้าหมายของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจนในรูปตัวชี้วัดผลงาน (Key Performance Indicators : KPI) เพื่อทำการตรวจสอบและวัดผลสำเร็จและให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ในขณะเดียวกันจะพยายามให้ความมีอิสระและยืดหยุ่นทางด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรและการใช้ทรัพยากรทางการเงินและบุคลากร
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) ชี้ให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารราชการ อันเนื่องมาจากการขาดความคล่องตัวทางการบริหารจัดการ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัจจัยนำเข้า (Input) และกฎระเบียบ โดยพยายามหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างตัวชี้วัดผลสำเร็จของการบริหารจัดการ ทั้งในแง่ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ตลอดจนการสร้างความพึงพอใจในคุณภาพของการให้บริการประชาชนรวมทั้งนำเอาเทคนิควิธีการบริหารจัดการของภาคธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานของรัฐ อาทิเช่น การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management - TQM) การรื้อปรับระบบ (Reengineering) การจ่ายรางวัลค่าตอบแทนตามผลงาน (Performance-Related Pay) การตรวจสอบผลการดำเนินงาน (Performance Auditing) และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เป็นต้น
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) มีเป้าหมายในเรื่องของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการบริหารการปกครองไปจากเดิม โดยพยายามลดบทบาทและจำกัดขนาดของรัฐบาล เช่น การโอนถ่ายไปสู่ระบบตลาดและภาคธุรกิจเอกชน การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีความทันสมัย การจัดตั้งองค์กรบริหารอิสระหรือองค์กรมหาชน การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง การเสริมสร้างบทบาทของชุมชนและองค์กรอาสาสมัครที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลและระบบราชการจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติ และดำเนินงานเองโดยตรงไปสู่การเป็นผู้กำกับ ช่วยเหลือ ร่วมมือ สนับสนุนและส่งเสริมให้กลไกตลาด ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ชุมชน และประชาชนสามารถเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทน อันจะนำไปสู่การโอนถ่ายภารกิจ การควบคุมและลดขนาดของภาครัฐให้เล็กลง (State Minimalism) การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน (Privatization) การผ่อนคลายการควบคุม (Deregulation) การทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย (Legalization) รวมทั้งการลดขนาดและจำกัดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐให้เล็กลงในท้ายที่สุด
ดังนั้น หากจะกล่าวโดยสรุปถึงการจัดการภาครัฐแนวใหม่นั้นก็จะเห็นว่า กรอบแนวความคิดนี้มีความโดดเด่นอย่างมากในแง่การให้เครื่องมือมากมายที่สามารถนำมาปรับใช้ในระบบบริหารจัดการภาครัฐให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้นได้ เพราะเครื่องมือที่นำมาจากหลักการจัดการภาคเอกชนนั้นส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรภายในระยะเวลาที่รวดเร็วทันการณ์กับการแข่งขันต่อฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่งในตลาด แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลักการดังกล่าวนี้จะมีข้อดีอยู่ก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าด้วยหลักการที่ต้องการสร้างความรวดเร็วในการทำงานกลับเอื้อให้เกิดช่องว่างของความอยุติธรรมขึ้นได้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับผู้นำมากจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้นำกลายเป็นทรราชในองค์กรได้ในท้ายสุด เพราะฉะนั้นการพิจารณาถึงกรอบแนวความคิดนี้จึงมิอาจมองเห็นด้านดีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลเสียในด้านตรงข้ามควบคู่กันไปด้วย

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

TOWS Matrix

         หลังจากที่มีการประเมินสภาพแวดล้อมโดยการวิเคราะห์ให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดแล้ว   ก็จะนำมาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบแมตริกซ์โดยใช้ตารางที่เรียกว่า TOWS Matrix   โดย TOWS Matrix เป็นตารางการวิเคราะห์ที่นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์หรือกยุทธ์ประเภทต่าง ๆ
ในการนำเทคนิคที่เรียกว่า TOWS Matrix มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์นั้น จะมีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญ 2 ขั้นตอน ดังนี้
1. การระบุจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด โดยที่การประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นการระบุให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนจะเป็นการประเมินภายในองค์การ ส่วนการประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดจะเป็นการประเมินภายนอกองค์การ กล่าวได้ว่า ประสิทธิผลของการกำหนดกลยุทธ์ที่ใช้เทคนิค TOWS Matrix นี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด ที่ละเอียดในทุกแง่มุม เพราะถ้าวิเคราะห์ไม่ละเอียดหรือมองไม่ทุกแง่มุม จะส่งผลทำให้การกำหนดกลยุทธ์ที่ออกมาจะขาดความแหลมคม
2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจุดแข็งกับโอกาส จุดแข็งกับข้อจำกัด จุดอ่อนกับโอกาส และจุดอ่อนกับข้อจำกัด ซึ่งผลของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในข้อมูลแต่ละคู่ดังกล่าว ทำให้เกิดยุทธ์ศาสตร์หรือกลยุทธ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1) กลยุทธ์เชิงรุก (SO Strategy) ได้มาจากการนำข้อมูลการประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นจุดแข็งและโอกาสมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์หรือกลยุทธ์ในเชิงรุก ตัวอย่าง กรมธนารักษ์ มีจุดแข็ง คือ ความสามารถในการผลิตเหรียญ และมีโรงกษาปณ์ที่ทันสมัย มีโอกาส คือ สามารถหารายได้จากการผลิตเหรียญได้ ทั้งหมดสามารถนำมากำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงรุก คือ ยุทธศาสตร์การรับจ้างผลิตเหรียญทุกประเภททั้งในและต่างประเทศ
2) กลยุทธ์เชิงป้องกัน (ST Strategy)ได้มาจากการนำข้อมูลการประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นจุดแข็งและข้อจำกัดมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์หรือกลยุทธ์ในเชิงป้องกัน ทั้งนี้เนื่องจากองค์การมีจุดแข็ง ขณะเดียวกันองค์การก็เจอกับสภาพแวดล้อมที่เป็นข้อจำกัดจากภายนอกที่องค์การควบคุมไม่ได้ แต่องค์การสามารถใช้จุดแข็งที่มีอยู่ในการป้องกันข้อจำกัดที่มาจากภายนอกได้ ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีจุดแข็ง คือ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันมีข้อจำกัด คือ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมีไม่เพียงพอที่จะสามารถจัดตั้งหน่วยงานของตนเองอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้     ทั้งหมดสามารถนำมากำหนดยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
3) กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO Strategy) ได้มาจากการนำข้อมูลการประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นจุดอ่อนและโอกาสมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์หรือกลยุทธ์ในเชิงแก้ไข ทั้งนี้เนื่องจากองค์การมีโอกาสที่จะนำแนวคิดหรือวิธีใหม่ ๆ มาใช้ในการแก้ไขจุดอ่อนที่องค์การมีอยู่ได้ ตัวอย่าง ระบบราชการมักมีจุดอ่อน คือ มีขั้นตอนการทำงานที่ยาว ใช้เวลามาก ขณะเดียวกันก็มีโอกาส คือ โอกาสของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ ทั้งหมดสามารถนำมากำหนดยุทธศาสตร์เชิงแก้ไข คือ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการบริหารจัดการและในกระบวนการทำงานของราชการให้มากขึ้น (e-Administration)
4) กลยุทธ์เชิงรับ (WT Strategy) ได้มาจากการนำข้อมูลการประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นจุดอ่อนและข้อจำกัดมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์หรือกลยุทธ์ในเชิงรับ ทั้งนี้เนื่องจากองค์การเผชิญกับทั้งจุดอ่อนและข้อจำกัดภายนอกที่องค์การไม่สามารถควบคุมได้ ตัวอย่าง ประเทศไทย จุดอ่อน คือ ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ประกอบกับพบข้อจำกัด คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งหมดนำมากำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงรับ คือ ยุทธศาสตร์การรณรงค์ประหยัดพลังงานทั่วประเทศอย่างจริงจัง และยุทธศาสตร์การหาพลังงานทดแทนที่นำทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น

KPI (Key Performance Indicators)

         กรอบแนวคิดของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ได้ให้ความสำคัญต่อจุดสนใจหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องผลสัมฤทธิ์ (result) ที่เกิดขึ้นจากการบริหาร  โดยถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดการจัดการภาครัฐแบบเดิมที่ให้ความสำคัญต่อภาระรับผิดชอบที่มีต่อปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากรและกระบวนการทำงาน (input and process accountability)  เช่น ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบ ปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กำหนด เป็นต้น มาเป็นภาระรับผิดชอบที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ (accountability for results) แทน 
การให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว  กล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมากจากอย่างน้อยใน 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
ส่วนแรก แนวคิดการจัดการนิยม (Managerialism) ของภาคธุรกิจ ซึ่งภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องของการมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่ประกอบไปด้วยประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ผลิตภาพหรือการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนให้ความสำคัญต่อคุณภาพ และความคุ้มค่าทางการเงิน   โดยในภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อการวัดผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นโดยการนำตัวชี้วัด ผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicators - KPI) มาใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จของงานที่เกิดขึ้น  ซึ่งในภาคธุรกิจนิยมที่จะนำเครื่องมือตัวชี้วัดผลการดำเนินงานนี้มาใช้อย่างมาก  จึงทำให้การบริหารภาครัฐในปัจจุบันจึงนิยมที่จะนำในการบริหารภาครัฐเช่นกัน  เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐบริหารและทำงานแบบมีผลสัมฤทธิ์เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ 
ส่วนที่สอง  แนวคิดในเรื่องของ Reinventing Government ที่นำเสนอโดย เดวิด ออสบอร์น และ เทด แกร์เบรอร์ (David Osborne and Ted Gaebler) โดยได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบราชการที่จะต้องปรับตัว  ก็คือ ระบบราชการจะต้องเป็นระบบที่ให้ความสำคัญต่อผลของการปฏิบัติงาน มากกว่าสนใจถึงปัจจัยนำเข้าทางการบริหารงานและขั้นตอนการทำงาน ซึ่งนักวิชการทั้งสองเรียกว่า  A Results-oriented Government
กรอบแนวคิดของผลสัมฤทธิ์
ตามที่กล่าวมาแล้วว่าแนวคิดของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ (result) ที่เกิดขึ้น  โดยที่ผลสัมฤทธิ์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ผลผลิต (output) และผลลัพธ์ (outcome)  โดยที่ผลผลิตเป็นผลงานในระยะสั้นที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต  ส่วนผลลัพธ์เป็นผลงานในระยะยาวที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต 
ผลสัมฤทธิ์ (result)  = ผลผลิต (output)  + ผลลัพธ์ (outcome)
จากสมการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าองค์กรจะบริหารงานได้ผลสัมฤทธิ์หรือไม่ จะต้องสร้างทั้งผลผลิตและผลลัพธ์ให้เกิดขึ้น  โดยจะให้ความสำคัญเฉพาะต่อผลผลิตในระยะสั้นเท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การให้บริการแก่ประชาชน จะให้ความสำคัญเฉพาะการลดรอบระยะเวลาในการให้บริการแก่ประชาชนให้สั้นลงเท่านั้นไม่ได้  แต่จะต้องให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ คือ การที่ประชาชนได้รับความพึงพอใจจากการรับบริการ เป็นต้น 

Balanced Scorecard

         เป็นเครื่องมือทางการบริหารที่พูกพัฒนาขึ้นมาโดย โรเบิร์ต เอส แคปแลน และ เดวิด พี นอร์ตัน (Robert S. Kaplan and David P. Norton) ในปี ค.ศ. 1996  เนื่องจากเขาเห็นว่าองค์การสมัยใหม่จะต้องการบริหารในเชิงกลยุทธ์ โดยจะเป็นองค์การที่ใช้เครื่องมือ Balanced Scorecard ในการวางกลยุทธ์ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของกระบวนการจัดการในองค์การ  ซึ่งศูนย์กลางของกระบวนการจัดการในองค์การในมุมมองของ แคปแลนและนอร์ตัน  ก็คือ คุณค่าสี่ประการที่องค์การจะต้องใช้เป็นกรอบเพื่อนำไปใช้ในการตอบสนองต่อกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่องค์การได้กำหนดขึ้น คือ คุณค่าด้านการเงิน (Finance) คุณค่าด้านลูกค้า (Customer) คุณค่าด้านกระบวนการ (Internal Process) และคุณด่าด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning&Growth)
Balanced Scorecard หมายถึง การแปลงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์การให้ออกมาเป็นตัวชี้วัดต่าง ๆ และผลักดันตัวชี้วัดเหล่านั้นให้ตอบสนองต่อเป้าหมายที่เป็นคุณค่าความสำเร็จของการบริหารองค์กรเชิงกลยุทธ์ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านลูกค้า  ด้านกระบวนการภายในธุรกิจ และด้านการเรียนรู้และการเติบโตขององค์การ  รวมถึงการสร้างความสมดุลในแต่ละด้าน รวมถึงการส่งต่อตัวชี้วัดในแต่ละด้านลงไปในระดับต่าง ๆ ในองค์การ   ทั้งนี้ Balanced Scorecard ก็ยังได้มีการนำจุดเด่นของ KPI ที่เน้นการวัด ผลผลิต (output) และผลลัพธ์ (outcome) ออกมาเป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรมมาใช้ด้วย แต่ในระบบการบริหารองค์การเชิงกลยุทธ์ที่ถูกนำเสนอโดย แคปแลน และ นอร์ตัน จะมีการนำเทคนิคที่เรียกว่า Balanced Scorecard มาใช้  ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในปี ค.ศ. 1996  แต่จะเรียกตัวชี้วัดในชื่อของ Key Value Driver หรือ KVD แทน  ในส่วนของความแตกต่างกันนั้น กล่าวได้ว่า  Balanced Scorecard จะนำไปเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์การ ขณะที่องค์ความรู้ด้าน KPI ไม่ได้กล่าวถึงการนำไปเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์การ
สาระสำคัญของการบริหารงานในเครื่องมือ Balanced Scorecard 
สาระสำคัญของเครื่องมือ Balanced Scorecard มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ใน 6 ส่วนที่สำคัญ คือ (1) การกำหนดคุณค่าหลักขององค์การ (Value) (2) การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) (3) การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) และการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objective) (4) การจัดทำ แผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map)  (5) การกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย และ (6) การริเริ่มแผน โครงการ และกิจกรรม (Initiative) โดยทั้งหมดสามารถแสดงความเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล
เมื่อ ก.พ.ร.นำมาใช้ในการบริหารภาครัฐของไทย ได้เปลี่ยนแปลง 4 คุณค่าใหม่ เป็น (1) คุณค่าด้านประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ (2) คุณค่าด้านคุณภาพการบริการ (3) คุณค่าด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และ (4) คุณค่าด้านการพัฒนาองค์การ

ที่มา : http://www.drmanage.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538632249

หลักการการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่

         การปฏิรูประบบราชการไทย ทำให้เกิดหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management )  โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. การสร้างการบริการที่มีคุณภาพแก่ ประชาชน โดยภาครัฐจะต้องหันมาสร้างบริการที่รวดเร็ว โปร่งใส และสร้างความประทับใจให้กับประชาชนอันเป็นเสมือนลูกค้า
2. สนับสนุนให้ลดการควบคุมจากส่วนกลางและเพิ่มอิสระในการบริหารงานให้แก่หน่วยงานมากขึ้น หรือเน้นการกระจายอำนาจ ผ่อนคลายกฎระเบียบให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
3. ให้ความสำคัญกับผลการปฏิบัติงาน หมายถึงเน้นการวัดผลการทำงานว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
4. การสร้างระบบสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้บุคคลากรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และยังสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น
5. การจัดการภาครัฐแนวใหม่สนับสนุนให้มีการเปิดกว้างในการแข่งขัน หลักการในข้อนี้เกิดจากการที่รัฐบาลมีภารกิจมากจนเกินไป เข้าไปมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ จึงเสนอว่ารัฐจะต้องยอมรับเรื่องของการแข่งขัน การแข่งขันในที่นี้จะต้องมีความเสรี เป็นการแข่งขันที่จะให้เอกชนเข้ามาปฏิบัติงานในส่วนที่รัฐเคยทำและไม่มีประสิทธิภาพ เช่นการจ้างเหมา การให้เช่า หรือแม้กระทั้งการแปรรูป  การที่มีการแข่งขันมากขึ้นทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการในด้านต่างๆเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้รับบริการในราคาที่ถูกลงและได้รับความพึงพอใจมากขึ้น นั่นคือหลักการของการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่มีผลอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนการบริหารงานภาครัฐของไทยมาสู่การจัดการแบบใหม่ รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการของไทยเอง ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน