วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รปศ.ในทศวรรตหน้า

Public Administration มีความหมายเป็น  2  นัยหรือ  2  ด้าน
Public Administration (PA) รัฐประศาสนศาสตร์ คือ ลักษณะวิชา (discipline) ที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจ
public (sector) administration (pa) บริหารรัฐกิจ เป็นกิจกรรม (activity) การบริหารงานภาครัฐ
รัฐประศาสนศาสตร์นับจากปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามบริบททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เช่น เกิดทัศนะที่มองการบริหารรัฐกิจว่าควรยึดหลักต่างๆ อาทิ หลักการแยกการเมืองออกจากการบริหาร หลักการจัดองค์กรแบบราชการ หรือหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ มาจวบจนถึงหลักการบริหารการจัดการที่เป็นหลักสากล สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกท้าทายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นของการขาดเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานชิ้นสำคัญของ Herbert Simon ในงานที่มีชื่อว่า “Administrative Behavior” ในปี 1946 ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงวิชาการทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์อย่างมาก และทำให้นักวิชาการทางด้านนี้เสื่อมความศรัทธาลงในประเด็นเรื่องความถูกต้องและความเหมาะสมต่อแนวคิดทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์แบบดั้งเดิม
การจัดการภาคราชการแต่เดิมอาศัยรูปแบบองค์การแบบระบบราชการ (Bureaucracy) ซึ่งไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นรูปแบบของภาคราชการในอนาคตอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากระบบราชการมีขนาดใหญ่ (Big Government) จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการหล่อเลี้ยงระบบก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการคลังตามมา อีกทั้งระบบราชการขาดประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชน ในขณะเดียวกันในโลกของนักปฏิบัติปัจจุบัน ในหลายประเทศกำลังดำเนินการปฏิรูประบบราชการตามแนวกระแสใหม่ของ paradigm ใหม่ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านกระบวนทัศน์ของการบริหารปกครองดังกล่าว ได้แก่ สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ กระแสอนุรักษ์นิยม การต่อต้านรัฐบาลและการกระจายอำนาจ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจเสรี และความล้มเหลวของระบบวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจหรือระบบสังคมนิยม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและระบบราชการ ตลอดจนความเข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจเอกชน ดังนั้น การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกิดขึ้นตามมาจากแรงผลักดันของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ปรารถนาให้ระบบราชการต้องมีการปรับตัว
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) คือ แนวคิดใหม่ทางการบริหารภาครัฐที่มีรากฐานมาจากเศรษฐศาสตร์ และการจัดการเอกชนมาปรับใช้ในองค์การภาครัฐ ให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผลของการบริหารจัดการ และความรับผิดชอบต่อผลงานของผู้บริหาร มีการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การอย่างชัดเจนในรูปตัวชี้วัดผลงาน (Key Performance Indicators : KPI) เพื่อทำการตรวจสอบและวัดผลสำเร็จและให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ในขณะเดียวกันจะพยายามให้ความมีอิสระและยืดหยุ่นทางด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรและการใช้ทรัพยากรทางการเงินและบุคลากร
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) ชี้ให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารราชการ อันเนื่องมาจากการขาดความคล่องตัวทางการบริหารจัดการ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัจจัยนำเข้า (Input) และกฎระเบียบ โดยพยายามหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างตัวชี้วัดผลสำเร็จของการบริหารจัดการ ทั้งในแง่ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ตลอดจนการสร้างความพึงพอใจในคุณภาพของการให้บริการประชาชน รวมทั้งนำเอาเทคนิควิธีการบริหารจัดการของภาคธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานของรัฐ อาทิเช่น การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management - TQM) การรื้อปรับระบบ (Reengineering) การจ่ายรางวัลค่าตอบแทนตามผลงาน (Performance-Related Pay) การตรวจสอบผลการดำเนินงาน (Performance Auditing) และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เป็นต้น
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) มีเป้าหมายในเรื่องของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการบริหารการปกครองไปจากเดิม โดยพยายามลดบทบาทและจำกัดขนาดของรัฐบาล เช่น การโอนถ่ายไปสู่ระบบตลาดและภาคธุรกิจเอกชน การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีความทันสมัย การจัดตั้งองค์กรบริหารอิสระหรือองค์กรมหาชน การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง การเสริมสร้างบทบาทของชุมชนและองค์กรอาสาสมัครที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลและระบบราชการจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติ และดำเนินงานเองโดยตรงไปสู่การเป็นผู้กำกับ ช่วยเหลือ ร่วมมือ สนับสนุนและส่งเสริมให้กลไกตลาด ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ชุมชน และประชาชนสามารถเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทน อันจะนำไปสู่การโอนถ่ายภารกิจ การควบคุมและลดขนาดของภาครัฐให้เล็กลง (State Minimalism) การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน (Privatization) การผ่อนคลายการควบคุม (Deregulation) การทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย (Legalization) รวมทั้งการลดขนาดและจำกัดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐให้เล็กลงในท้ายที่สุด

หลักการของการจัดการภาครัฐแนวใหม่
NPM จะใช้การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ RBM เป็นเครื่องมือในการบริหาร RBM เป็นการเปรียบเทียบผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง กับเป้าหมายที่กำหนด โดยการประเมินผล อาศัยตัวชี้วัดสะท้อนผลงานออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลคุ้มค่า รวมถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้รับบริการ
RBM เป็นเครื่องมือการบริหารที่มาพร้อม NPM ที่คำนึงถึงประชาชนและผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้การทำงานภาครัฐ เน้นผลลัพธ์ของงานมากกว่าเน้นปัจจัย กระบวนการทำงาน และกฎระเบียบที่เคร่งครัดวัดผลเป็นรูปธรรม
RBM ให้ความสำคัญกับการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานชัดเจน วัดความก้าวหน้าได้ และต้องคุ้มค่าในการใช้ภาษี และงบประมาณแผ่นดิน
สาระสำคัญของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management)
1. การเปลี่ยนแปลงหลักการบริหารที่เน้น ผลผลิตและผลลัพธ์ แนวเก่าเน้นที่ทรัพยากรนำเข้า หรือทรัพยากรที่ใช้ในการบริหาร หรือกระบวนการทำงาน
2. การสร้างระบบการวัดผลงาน การกำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐาน
3. มีโครงสร้างองค์การที่กะทัดรัด แบนราบ เป็นอิสระ แทนความใหญ่โต รุ่มร่าม
4. สร้างสายสัมพันธ์แบบสัญญา (จ้าง) มากกว่าสายการบังคับบัญชา
5. ใช้กลไกการตลาดในการจัดทำบริการสาธารณะ
6. เส้นแบ่งระหว่างภาครัฐและเอกชนไม่ชัดเจน เนื่องจากความสัมพันธ์แบบเป็นหุ้นส่วนมีมากขึ้น
7. ค่านิยม เช่น หลักสากล เสมอภาค มั่นคง ลดความสำคัญลงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ
สรุปการบริหารภาครัฐของไทยในศตวรรษใหม่มีแนวโน้มในการปฏิบัติ 6 แนวทาง  คือ
1)      การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Decentralization)
2)      การแปรสภาพกิจกรรมของรัฐเป็นกิจกรรมของเอกชน (Privatization)
3)      การนำระบบการประเมินผลแบบเปิดไปใช้ในหน่วยงานขอรัฐ (Democratization /Public Hearing)
4)      การปฏิรูปกฎหมายและระเบียบที่ล้าหลัง (Deregulation)
5)      การปฏิรูประบบงบประมาณ (Deconcentration)
6)      ปรัชญาการบริหารภาครัฐจะต้องทำลายการผูกขาดของรัฐ (Monopoly)

ถ้า อ.ถามว่าหน่วยงานของท่านนำ NPM มาใช้อย่างไรบ้าง ก็ให้ยกตัวอย่างเครื่องมือ เช่น การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management - TQM) การรื้อปรับระบบ (Reengineering) การจ่ายรางวัลค่าตอบแทนตามผลงาน (Performance-Related Pay) I Balanced Scorecard (BSC), Benchmarking, Knowledge Management (KM), Good govermance, Results Based Managemant (RBM) การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA),  KPI,  หลักสมรรถนะ. (Competency). เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น